Spiga

ลำดับมาตรการปลดชนวนวิกฤตของธนาคารกลางสหรัฐ

นับจากวิกฤตซับไพรมก่อตัวขึ้นในสหรัฐปี 2550 และส่งผลกระทบไปทั่ว กลายเป็นบททดสอบฝีมือของ เบน เบอร์นันคี ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

ต่อไปนี้คือ เครื่องมือต่างๆ ที่ถูกทยอยนำออกมาใช้ เพื่อป้องกันเศรษฐกิจโดยรวม โดยเฉพาะไม่ให้เดินเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือ recession

เครื่องมือดอกเบี้ยเงินกู้ระยะสั้น

เฟดใช้เครื่องมือดอกเบี้ยเงินกู้ ทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ชั่วข้ามคืน (federal fund rate) และอัตราส่วนลด (discount rate) เป็นหนึ่งกลไกสำคัญในการบรรเทาปัญหาระบบการเงิน โดยนับจากการประชุมเมื่อวันที่ 18 ก.ย.2550 จนถึงการประชุมวันที่ 30 ม.ค. 2551 คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟดได้ปรับอัตราดอกเบี้ยทั้งสองประเทศลงแล้ว 2.25% และ 2.75% ตามลำดับ โดยช่วงเวลา ดังกล่าวมีการปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมฉุกเฉิน นอกวาระการประชุม 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 21 ม.ค.2551 ซึ่งครั้งนั้นเฟดดึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะสั้นครั้งเดียวถึง 0.75%

กลไกการเงินพิเศษ

1.กลไกประมูลชั่วคราว (temporary auction facility : TAF) มีการพัฒนากลไกใหม่ๆ ขึ้นมาช่วยเสริมสภาพคล่องทางการเงินในระบบ เสริมกับการอัดฉีดสภาพคล้องผ่านตลาดเปิด (open market) และช่องทาง (discount loan) โดยกลไกใหม่ที่สหรัฐนำมาใช้เรียกว่า กลไกประมูลชั่วคราว (temporary auction facility : TAF) โดยเริ่มใช้เป็นครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคมถึงปัจจุบันมีการประมูลไปแล้ว 6 ครั้ง วงเงินประมูลประมาณ 1.60 แสนล้านดอลลาร์ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วธนาคารกลางสหรัฐ ประกาศเพิ่มวงเงินของกลไกสำหรับเดือนมีนาคมเป็น 1 แสนล้านดอลลาร์ จากเดิมที่ประกาศไว้ 6 หมื่นล้านดอลลาร์

2.กลไกตลาดเปิด (open market) และช่องทาง (discount loan) เฟดยังได้ร่วมมือกับธนาคารกลางของแคนาดา สหภาพยุโรป อังกฤษ และสวิตเซอร์แลนด์ อัดฉีดสภาพคล่องอีกกว่า 500 พันล้านดอลลาร์ในยุโรป จากนั้นเมื่อ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา เฟดประกาศอัดฉีดสภาพคล่องผ่านตลาดซื้อคืนพันธบัตร อีก 1 แสนล้านดอลลาร์

3.กลไก swap currency คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน ประกาศเพิ่มวงเงินในกลไกธุรกรรม สวอปอัตราแลกเปลี่ยนที่ทำกับธนาคารกลางแห่งยุโรป และธนาคารกลางสวิสเป็น 3 หมื่นล้านดอลลาร์ และ 6 พันล้านดอลลาร์ตามลำดับ ขยายระยะเวลาของธุรกรรมประเภทนี้เป็นถึง 30 ก.ย.ปีนี้

4.กลไก term securities lending facility มาตรการก่อนๆ ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ปัญหาเงินตึงตัวลดลง ระบบการเงินมีสภาพคล่องมากขึ้น อย่างไรก็ตามแนวโน้มของวิกฤตสินเชื่อที่ยังไม่จบสิ้นง่ายๆ ส่งผลให้เฟดประกาศกลไกใหม่เมื่อ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา เรียกว่า กลไก term securities lending facility วงเงิน 2 แสนล้านดอลลาร์ โดยเป็นการปล่อยกู้แก่สถาบันการเงินชั้นดีของประเทศ 20 ราย

สาระสำคัญของกลไกใหม่คือเฟดจะรับซื้อตราสารหนี้ อันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินระดับ AAA โดยตรงจากสถาบันการเงินเป้าหมาย โดยชำระเป็นพันธบัตรรัฐบาลประเภทต่างๆ ปัจจุบันเฟดถือครองอยู่ 7.13 แสนล้านดอลลาร์ โดยมีกำหนดระยะเวลาซื้อคืน 28 วัน

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ


0 ความคิดเห็น: