Spiga

ถนนสู่ทำเนียบขาว 2008: ชัยชนะที่งดงามของฮิลลารีที่เพนซิลเวเนียบ่งบอกอะไรบ้าง?

ก็เป็นว่าในที่สุดฮิลลารี รอดแฮม คลินตันสามารถคว้าชัยเหนือบารัค โอบามา วุฒิสมาชิกหนุ่มจากรัฐอิลลินอยส์ในการหยั่งเสียงไพรมารี ที่รัฐเพนซิลวาเนียได้เป็นผลสำเร็จด้วยคะแนนเสียง 55 % ต่อ 45 % ตัวเลขนี้ถือเป็นชัยชัยชนะที่สวยสดงดงามของเธอ ที่บอกว่าสวยสดงดงามเพราะเธอสามารถเอาชนะโอบามาแบบทิ้งห่างด้วยคะแนนเป็นตัวเลขสองหลัก คือ 10 % ซึ่งมีนัยยะสำคัญทั้งในด้านคะแนน popular vote เป็นการลดแรงกดดันจากเสียงเรียกร้องให้เธอถอนตัวออกจากการแข่งขันและเป็นการสร้างแรงกดดันไปยังคณะตัวแทนระดับสูงของพรรค (superdelegates) ที่มีโอกาสสูงว่าจะเป็นผู้ชี้ขาดในการประชุมใหญ่ของพรรคที่เดนเวอร์ว่าเธอหรือโอบามา ใครจะถูกส่งไปเป็นตัวแทนพรรคเข้าชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐในปลายปีนี้

ชัยชนะครั้งนี้ของฮิลลารีทำให้เธอได้เดลิเกตส์ไป 81 แต้มส่วนโอบามาได้ไป 72 แต้มรวมคะแนนเดลิเกตส์ล่าสุดในตอนนี้ทั้งโอบามาและฮิลลารีเก็บคะแนนเดลิเกตส์ไปแล้ว 1719 และ 1586 คะแนนตามลำดับโดยโอบามายังนำฮิลลารีอยู่ 133 แต้ม

แล้วผลการหยั่งเสียงขั้นต้นแบบไพรมารีที่เพนซิลเวเนียบ่งบอกอะไรบ้าง?

ประการแรก ผลการหยั่งเสียงที่ออกมาในครั้งนี้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่าเรื่องประชากรศาสตร์ (demographics) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอายุ เพศ สีผิว ศาสนา อาชีพ ระดับการศึกษายังเล่นเป็นบทเด่นสำหรับการแข่งขันของพรรคเดโมแครต ทั้งๆที่ค่ายของโอบามาทุ่มทุนหมดเงินไปเยอะกับการรณรงค์หาเสียงครั้งนี้ที่เพนซิลเวเนีย เขาใช้เงินมากกว่าฮิลลารี่คิดเป็นสัดส่วนถึง 3 ต่อ 1 ผลการเลือกตั้งที่ออกมาหากมองในแง่ของประชากรศาสตร์ ลักษณะการลงคะแนนเสียงของผู้ลงคะแนนเสียงในเพนซิลเวเนียไม่แตกต่างจากพฤติกรรมการลงคะแนนเสียงในโอไฮโอ นั่นคือ

ในด้านอายุนั้นคนที่อายุ 65 ปีหรือมากกว่ามีถึงร้อยละ 60 ที่เลือกฮิลลารี เหมือนไพรมารีที่โอไฮโอก่อนหน้านี้ที่ผู้สูงอายุกว่า 75 เปอเซ็นต์เทคะแนนเสียงให้กับฮิลลารี

ในด้านเพศและสีผิว ฮิลลารี่ได้เสียงจากสตรีผิวขาวมากถึง 65 % ผู้ชายผิวขาว 55 % ส่วนโอบามายังคงได้รับคะแนนเสียงจากอาฟริกัน-อเมริกันไปอย่างท่วมท้นเช่นเคยเหมือนกับทุกรัฐที่ผ่านมาที่เขาได้คะแนนจากอเมริกันผิวดำมากกว่า 70 % เทียบกับคนผิวขาวที่เลือกฮิลลารี่แล้วคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อยกว่าอเมริกันผิวดำเลือกโอบามามาก

ผู้เขียนจึงไม่เคยเห็นด้วยกับคำพูดที่ว่า “คนอเมริกันยังไงก็ไม่ยอมรับประธานาธิบดีผิวดำเพราะอเมริกายังเหยียดผิวอยู่” แน่นอนว่าการเหยียดผิวในอเมริกานั้นยังมีอยู่จริงแต่ก็น้อยลงไปมากอย่างเทียบไม่ได้ในอดีต และในปัจจุบันคนผิวดำก็มีสิทธิมีเสียงหรืออาจมีสิทธิพิเศษมากกว่าคนผิวขาวในบางเรื่องเสียด้วยซ้ำ การเหยียดผิว(racial discrimination)ในอเมริกาถือเป็นเรื่องผิดกฏหมาย หากอเมริกันยังนิยมการเหยียดผิวอยู่เราคงไม่ได้เห็น กฏหมายที่ห้ามการเหยียดผิวออกมา เราคงไม่ได้เห็น African-Americans ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรี ผู้ว่าการรัฐทั้งในรัฐทางเหนือและทางใต้ หรือในระดับชาติอย่างผู้พิพากษาศาลฏีกา สมาชิกชิกสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสมาชิกและในคณะรัฐมนตรี

และทีสำคัญเราคงไม่ได้เห็นโอบามามาถึงจุดนี้หากไม่ได้รับคะแนนเสียงจากคนผิวขาวด้วยโดยเฉพาะกลุ่มคนผิวขาวการศึกษาสูงที่เป็นฐานเสียงอันเหนียวแน่นของโอบามา

ในทางตรงกันข้ามคำพูดที่ไม่ระมัดระวังของโอบามาที่ออกมาในเชิงดูหมิ่นคนถ้องถิ่น(ประกอบด้วยคนผิวขาวเป็นส่วนใหญ่) ระหว่างปราศรัยหาเสียงว่า

residents of small towns in Pennsylvania and elsewhere are bitter because of job
losses, and so have turned to traditions like guns, religion and anti-immigrant
sentiment.

ผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองเล็กๆในเพนซิลเวเนียและที่อื่นๆกำลังแสดงออกอย่างเคียดแค้นขมขื่นเพราะตกงานเลยต้องหันไปพึ่งพาวัฒนธรรมแบบเดิมๆอย่างปืนและศาสนาและแสดงการต่อต้านผู้อพยพเข้าเมือง


ซึ่งคำพูดนี้ทำให้คนผิวขาวท้องถิ่นคนหนึ่งเปรยความรู้สึกออกมาว่าโอบามากำลังบอกพวกเขาว่า ประชาชนอ่อนแอ โง่และซื่อและต้องใช้หนทางศาสนาเพื่อเป็นแนวทางในการผ่านอุปสรรค คำพูดของโอบามาไม่ได้ช่วยตัวเขาเองเลย ซึ่งก็จริงตามคำพูดของเขาเพราะฮิลลารี่ได้คะแนนเสียงจากคนที่เป็นคาทอลิคกว่า 75 %

ส่วนในกลุ่มผู้มีการศึกษาระดับวิทยาลัย-มหาวิทยาลัยนั้น โอบามาทำได้ดีกว่าคลินตันเพียงเพียงเล็กน้อย ซึ่งโอบาบาต้องการคะแนนเสียงในคนกลุ่มนี้มากหากเขาต้องการเอาชนะความได้เปรียบของคลินตันเพราะฐานเสียงสำคัญของโอบามานอกจากอาฟริกัน-อเมริกันแล้วก็คือกลุ่มคนผิวขาวการศึกษาสูงนั่นเองที่ทำให้เขาได้รับชัยชนะในการหยั่งเสียงไพรมารี่ที่ผ่านมา

ฮิลลารีเอาชนะโอบามาได้ในครั้งนี้เพราะเธอมีฐานเสียงที่เหนียวแน่นในกลุ่มผู้หญิงผิวขาว กลุ่ม working-class voters และกลุ่มผู้ชายผิวขาวนั่นเอง

จะว่าไปแล้วโอบามาเองไม่ใช่คนผิวดำร้อยเปอร์เซ็นต์เสียทีเดียวเพราะแม่ของเขาก็เป็นคนผิวขาว โอบามาคือลูกครึ่งระหว่างคนขาวกับคนดำและที่สำคัญการที่เขามาถึงจุดนี้ได้ต้องบอกว่าเพราะแม่และตากับยายที่เป็นคนผิวขาวนั่นเองที่ฟูมฟักเลี้ยงดูเขามาเป็นอย่างดี ส่งเสริมด้านการศึกษา ตั้งแต่เด็กก็ได้เข้าเรียนในโรงเรียนที่แพงที่สุดในฮาวายจนเรียนถึงระดับมหาวิทยาลัย

ประการที่สอง เป็นชัยชนะด้านจิตวิทยาที่ยิ่งใหญ่ของฮิลลารี เพราะชัยชนะอย่างงดงามเท่านั้นที่จะสร้างพลังกระตุ้นอย่างแรงไปยังการหยั่งเสียงขั้นต้นครั้งต่อไปที่จะจัดขึ้นพร้อมกันที่อินเดียนา และนอร์ธ โคโรไลนาในวันที่ 6 พฤษภาคมที่จะถึงนี้

แต่ถึงแม้ว่าเธอจะสามารถกวาดชัยชนะในสนามนี้ได้ก็ไม่ได้ส่งผลทำให้เธอพลิกกลับมาได้เปรียบโอบามาในเรื่องของจำนวนเดลิเกตส์แต่อย่างใด เพราะระบบคิดคะแนนของพรรคเดโมแครตเป็นระบบสัดส่วน จำนวนคณะผู้เลือกตั้งจะถูกจัดสรรตามสัดส่วนคะแนนที่ผู้สมัครแต่ละคนได้มา

ประการที่สาม ชัยชนะที่งดงามของเธอที่เพนซิลวาเนียจะยังคงได้รับการพูดถึงตามสื่อและหน้าหนังสือพิมพ์ไปตลอดทั้งสัปดาห์ นานเพียงพอจนถึงการหยั่งเสียงขั้นต้นที่อินเดียน่า ซึ่งตอนนี้เธอก็ได้รับการคาดหมายว่ามีโอกาสชนะที่อินเดียน่าด้วย แต่การได้แต้มเดลิเกตส์เพิ่มขึ้นมาเพียงเล็กน้อยคงไม่สร้างความแตกต่างอะไรมากนัก เพราะโอบามาก็ได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นฝ่ายคว้าชัยที่นอร์ธ แคโรไลนาซึ่งเป็นสนามการแข่งขันที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาสนามแข่งขันที่เหลือทั้งหมด 9 สนาม

ประการที่สี่ ชัยชนะที่เพนซิลเวเนียในครั้งนี้ทำให้ฮิลลารีซึงเป็นรองโอบามาอยู่ในส่วนของคะแนน popular vote ตีตื้นคะแนนขึ้นมาอีกระดับหนึ่งโดยในตอนนี้ฮิลลารียังมีคะแนน popular vote ตามโอบามาอยู่ 500,000 คะแนน แต่ที่จะส่งผลในด้านจิตวิทยาสร้างแรงกดดันไปยังคณะตัวแทนระดับสูงของพรรค (superdelegates) ให้วางตัวเป็นกลางไปก่อนขณะที่การแข่งขันยังไม่จบโดยขณะนี้จากการรายงานของแอสโซซิเอท เพรส ฮิลลารีมีคะแนน superdelegates นำโอบามาอยู่ 259 ต่อ 235 แต้ม โดยยังมีจำนวน superdelegates ถึง 301 เสียงที่ยังไม่ได้รับรองผู้สมัครคนใด

ซึ่ง democratic party insiders หรือ superdelegates นี้มีโอกาสสูงว่าจะเป็นผู้มีบทบาทในการชี้ขาดในการประชุมใหญ่ของพรรคที่เดนเวอร์ว่าใครคือผู้สมัครของพรรคในการเข้าชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐในปลายปีนี้ เนื่องจากทั้งคลินตันและโอบามา ต่างก็ไม่มีใครที่จะได้คะแนนในส่วนของคณะตัวแทนเลือกตั้ง (delegates) ได้ถึง 2,025 คะแนน ซึ่งเป็นคะแนนชี้ขาดสำหรับผู้ชนะการหยั่งเสียงเลือกตั้งขั้นต้น


0 ความคิดเห็น: