Spiga

พิสูจน์น้ำคำผู้นำพม่า

อ่านบทความชิ้นนี้ในไทยรัฐแล้วค่อยยังมีความหวังและภาพพจน์ที่ดีขึ้นกับคอลัมน์การเมืองต่างประเทศในสื่อไทยบ้างที่ยังเขียนแบบมีสติพอแยกแยะได้ว่าการช่วยเหลือเหยื่อนาร์กีสมันเป็นเรื่องของมนุษยธรรม

ไม่ใช่พอชาวต่างชาติเขานำความช่วยเหลือมาช่วยชาวพม่าตาดำๆที่ประสพภัยพิบัติก็กลับเกิดอาการ "จองหองพองขน" ตามรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าไปแบบนายนิติภูมิ นวรัตน์คอลัมนิสต์ เปิดฟ้าส่องโลกทางหนังสือพิมพ์ไทยรัฐที่นั่งเทียนเขียนบทความเรื่อง “พม่าไม่ยอมให้อเมริกาช่วย” ฉบับประจำวันที่ 9 พ.ค. 51 ที่กล่าวหาอเมริกาว่า

"รัฐบาลมหาอำนาจบางประเทศ ไม่ต้องการให้พม่ามีความเจริญก้าวหน้า เพราะต้องการใช้ สภาพเศรษฐกิจอันยอบแยบของพม่านี่แหละ ค่อยๆทยอยทิ่มพม่าไปเรื่อยๆ จนรัฐบาลพม่าแย่ จากนั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงคณะผู้นำ นางออง ซาน ซู จี ที่พวกตนเตรียมไว้ก็จะได้เข้าสู่อำนาจบริหาร

มหาอำนาจชาตินี้อยากได้พม่า เพราะว่าพม่าเป็นประเทศที่มีพรมแดนติดทั้งอินเดียและจีน และก็ทั้งสองประเทศนี้นี่แหละ ที่มีศักยภาพซึ่งจะโตขึ้นไปเป็นมหาอำนาจแข่งกับสหรัฐอเมริกา ในอนาคต หากรัฐบาลพม่าอยู่ภายใต้การกำกับดูแลโดยสหรัฐอเมริกาเมื่อใด จีนกับอินเดียก็จะเหนื่อยขึ้น"

เรียกว่ามองอเมริกาเป็น "ผู้ร้าย" ตลอดเวลา แม้แต่ความต้องการเข้ามาช่วยเหลือชาวพม่าที่ประสพภัยพิบัติจากพายุไซโคลนของอเมริกาครั้งนี้ก็ยังถูกนายนิติภูมิมองว่าเป็น "ผู้ร้ายในคราบนักบุญ" อีกเช่นเคย แต่ทรราชย์เสื้อเขียวอย่างตานฉ่วยและพวกนี่นิติภูมิกลับกล่าวปกป้องดั่งกับจงอางหวงไข่ มองว่าเป็น "รัฐบาลที่ห่วงใยประชาชนชาวพม่า" ไปได้ นี่คือการแสดงทัศนคติที่เป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตยอย่างยิ่ง ที่บอกว่าเป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตยเพราะแนวความคิดของนิติภูมิ นวรัตน์ไม่สนับสนุน "ผู้นำ" ในการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยของชาวพม่าที่ทั่วโลกต่างให้เกียรติและยกย่องอย่างออง ซาน ซู จีก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของชาวพม่าแต่กลับพอใจกับการดำรงอยู่ของรัฐบาลทหารพม่าแทนเพียงเพราะเห็นว่าประเทศมหาอำนาจตะวันตกให้การสนับสนุนนางออง ซาน ซู จีเท่านั้น

นักคอลัมนิสต์ซ้ายตกขอบอย่างนิติภูมิที่เขียนบทความด้วยความเกลียดชังบังตาจึงเห็นความมั่นคงของรัฐบาลทหารพม่ามีความสำคัญอยู่เหนือชีวิตของเหยื่อนาร์กีสที่กำลังรอคอยความช่วยเหลือจากโลกภายนอกเป็นสำคัญ

ความช่วยเหลือจากประเทศตะวันตกและยูเอ็นซึ่งมีความพร้อมทั้งในเรื่องบุคคลากรและอุปกรณ์มากกว่าอาเซียนหลายเท่าที่ตั้งตาจะเข้าไปช่วยเหลือชีวิตของชาวพม่าที่กำลังรอความช่วยเหลืออยู่ เพราะช้าไปเพียงแม้แต่นาทีเดียวนั่นก็หมายถึงชีวิต ไม่ต้องไปพูดถึงเลยว่าเป็นสัปดาห์ ประเทศไทยที่เคยประสพกับคลื่นยักษ์สึนามิมาคงรู้ดีว่าการช่วยเหลือผู้ประสพภัยพิบัติให้ทันท่วงทีนั้นเป็นความหวังของประชาชนขนาดไหน ซึ่ง พตท. ทักษิณพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ารัฐบาลของประชาชนนั้นเห็นความเดือดร้อนของประชาชนสำคัญเพียงใดสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทยแต่รัฐบาลทหารพม่าไม่ใช่รัฐบาลของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชน พวกเผด็จการมันจึงไม่แคร์หรอกว่าประชาชนจะเดือดร้อนขนาดไหน ยังไงก็ต้องขอรักษาอำนาจของตนไว้ก่อนเป็นลำดับแรกโดยเอาเอาชีวิตประชาชนมาเป็นตัวประกันทางการเมือง

หากข้อเขียนของนิติภูมิเอาใจประชาชนชาวพม่าตาดำๆมาใส่ใจเราก็จะรู้ว่าพวกเขาโกรธเกรี้ยวต่อรัฐบาลของตัวเองขนาดไหนกับความช่วยเหลืออย่างล่าช้าเพราะเผด็จการมัวแต่ห่วงความมั่นคงของตนเอง จน Aung Zaw บรรณาธิการหนังสือพิมพ์อิระวดีของพม่าได้เขียนถึงความรู้สึกของพี่น้องชาวพม่าของเขาที่พม่าที่เขาได้มีโอกาสพูดคุยด้วยว่า ประชาชนชาวพม่ารู้สึกอยู่ 2 อย่าง คือ "first, they are angry at the military for reacting so slowly. and second, they are angry at the cyclone for missing Naypyidaw"

ไม่เห็นมีประชาชนพม่าคนไหนกลัวมหาอำนาจหรือฝรั่งตะวันตกอย่างที่นายนิติภูมิคิดกลัวแทนพวกเขาเลยพวกเขาเรียกร้องหาแต่ความช่วยเหลือในตอนนี้ ไม่สนทั้งสิ้นว่าจะมาจากไหน และโดยส่วนใหญ่แล้วคนพม่านั้นเขาขอบคุณอเมริกามากว่าใครเพื่อนโดยเฉพาะนางอองซาน ซู จี วีรสตรีคนกล้าของพม่าและเป็นผู้นำที่คนพม่ารักมากที่สุด มีแต่เผด็จการเท่านั้นที่หวาดวิตกจริตไปเอง มีแต่คนที่ชอบแบกเกี้ยวให้เผด็จนั่งอย่างนิติภูมิเท่านั้นที่คิดแทนคนพม่า บอกว่ามหาอำนาจชาตินี้อยากได้พม่า (ฮา)

นิติภูมิมองการเมืองระหว่างแบบมิติเดียวคือมองว่า อเมริกากับจีนต้องเป็นศัตรูกันเท่านั้น หาได้ตระหนักถึงความเป็นจริงที่ว่า อเมริกาและจีนต่างก็เป็นคู่ค้าที่สำคัญต่อกันในปัจจุบัน บริษัทใหญ่ๆในประเทศจีน คนอเมริกันเป็นคนรันเสียส่วนใหญ่ บริษัทสัญชาติอเมริกันที่เข้าไปลงทุนในจีนก็เยอะมากอย่างจีเอ็ม หรือ เดล คอมพิวเตอร์ อเมริกาในตอนนี้จึงเหมือนกับญี่ปุ่นที่เคยเข้าไปลงทุนในอเมริกาช่วง 1980s ดังนั้นจีนได้คนรันธุรกิจคืออเมริกา พวกนี้เป็นพวกที่จะสร้างปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจในจีน เงินทุนคือจีนแต่มันสมองคืออเมริกัน

ยิ่งประเทศมีอัตราการเติบโตของแรงงานที่มีทักษะที่ใกล้เคียงกันหรือที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า“endowments” แล้วในทฤษฎีใหม่ของการค้าระหว่างประเทศ ยิ่งทำให้เกิดการเทรดสินค้าประเภทเดียวกันเกิดขึ้นแล้ว นั่นคือ specialized in similar products ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่คล้ายกันนี้จะมีตลาดเฉพาะกลุ่มรองรับสินค้าก่อให้เกิดความหลากหลายทางการค้าเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล

นิติภูมิต้องย้อนไปดูสมัยเศรษฐกิจของยุโรปเริ่มฟื้นตัวหลังสงคราม การลงทุนของอเมริกาในจีนตอนนี้ก็เหมือนอเมริกาในยุโรปตอนนั้นคือช่วยให้ยุโรปยืนบนลำแข้งของตัวเองได้และทำให้ลักษณะเศรษฐกิจในยุโรปคล้ายอเมริกา อเมริกาสามารถทำให้ยุโรปวิ่งตามอเมริกาไม่ทันไปได้อีกนานหลังสงครามแต่อเมริกาไม่ทำเช่นเดียวกับที่อเมริกาไม่ทำกับญี่ปุ่น แต่อเมริกากลับเอ็นจอยในการเลือกที่จะพลิกให้ประเทศเหล่านี้มีศักยภาพในการผลิตสินค้าแบบเดียวกับที่อเมริกาผลิตได้ซึ่งได้รับ several billions of dollars จากการค้าระหว่างกันเป็นผลตอบแทนตามมา

ความคิดของนิติภูมิที่กลัวว่าอเมริกาจะเข้าไปยึดพม่าเพราะพม่ามีพรมแดนติดจีนและอินเดียซึ่งทั้งสองประเทศจะกลายเป็นมหาอำนาจต่อจากอเมริกาในอนาคตนั้นจึงเป็นความคิดที่ "ล้าหลัง" แถมขาดความเข้าใจในเวทีเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศอีกด้วย


-----------------

หลังสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เสร็จสิ้นการประชุมกลุ่มผู้บริจาคช่วยเหลือเหยื่อไซโคลน “นาร์กีส” ในพม่า รวบรวมเงินสัญญาว่าจะให้เพิ่มอีกเกือบ 50 ล้านดอลลาร์ ส่วนนาย บัน กี-มูน เลขาธิการยูเอ็น ผู้บินมาเยือนพม่าแค่ 2-3 วัน ก็ได้เครดิตงามๆ หลังกล่อมพลเอกอาวุโส ตาน ฉ่วย ผู้นำสูงสุดรัฐบาลพม่า เปิดรับผู้เชี่ยวชาญต่างชาติเข้าพม่าทั้งหมด ทั้งๆที่คุยกันแค่ไม่กี่ชั่วโมง ผิดกับแต่ก่อนที่แม้แต่โทรศัพท์ นายบันโทร.หากี่ทีๆ ตาน ฉ่วย ก็ยังไม่รับสาย

อาจเป็นเพราะเรื่องราวเดินทางมาถึงองศาเดือด พม่าถูกประชาคมโลกก่นด่าจนเละเทะ ไม่มีทางเลือกอื่น จำใจเปิดประเทศไม่งั้นจะโดนหนักกว่านี้ มิเช่นนั้นมีรึ? จะยอมง่ายๆขนาดนี้ หรือไม่ ก็อาจกลัวจะไม่ได้เงินช่วยจากชาติผู้บริจาค

ฟังดูเรื่องราวแล้วน่าจะจบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง? แต่ช้าก่อน! มีผู้ตั้งคำถาม? น้ำคำผู้นำพม่าเชื่อได้ แค่ไหน? แต่รอดูอีกสักระยะก็น่าจะรู้กันล่ะว่า จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงจากสัญญาลมปากของผู้นำพม่า กี่มากน้อย ฟากหน่วยงานบรรเทาทุกข์ต่างชาติ ผู้รู้นอก รู้ใน เห็นไส้เห็นพุงเจ้าหน้าที่พม่าดียังไม่ปักใจเชื่อ? เพราะนับแต่เกิดพายุถล่ม พม่าปิดตายพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิระวดี ซึ่งเป็นพื้นที่เสียหายหนักสุด ใครก็เข้าไม่ได้ ขณะเดียวกันก็คุยมาตลอด “การช่วยเหลือ เหยื่อไซโคลนสมบูรณ์แบบและทันเวลา ไม่มีใครอด อยาก” อันผิดกับที่คนในพื้นที่และนักข่าวต่างชาติที่แอบเข้าไป แย้งกันชัดๆ คำอู้ผู้นำพม่า เชื่อบ่ได้กา! ผู้เดือดร้อนยังอดอยาก ไร้บ้าน อาหารไม่เพียงพอ แต่ละวันต้องมานั่งขอทานตามถนนใหญ่ขอของกินยาไส้ แล้วงี้จะว่าสุขสบายได้จะใดเล่า!

ข้อกังขาของเจ้าหน้าที่ต่างชาติใช่ว่าจะไกลเกินแกง เอ๊ย! เกินจริง ดูเอาเถอะแม้แต่เรือรบกองทัพสหรัฐฯ ฝรั่งเศส และอังกฤษ ขนสิ่งของบรรเทาทุกข์ จอดลอยลำ รอพม่าไฟเขียวเข้าประเทศตั้งแต่เกิดพายุไม่นาน จนถึงป่านนี้ไฟจราจรของพม่าก็ยังขึ้น “สีแดง” จนฝรั่งเศสถอดใจ รอต่อไปคงเป็นหมัน! ว่าแล้วก็หันหัวเรือมาเทียบฝั่งไทย ส่งไม้ต่อให้โครงการอาหารโลก (WFP) ไปดำเนินการแทน

ความหวังช่วยเหลือเหยื่อพายุในพม่า นักวิเคราะห์หลายคนหรือแม้แต่นายบันก็ยังทำได้แค่หวังว่าพม่าจะรักษาคำพูดบ้างเท่านั้นแหละ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น! ความหวังของผู้รอดชีวิตจากพายุในพม่ากว่า 2.5 ล้านคนจึงจะเรืองรองขึ้นมาได้ ผิดกับการช่วยเหลือเหยื่อแผ่นดินไหวในจีน ไม่มีใครตั้งคำถามเพราะเป็นไปอย่างรวดเร็วและทันกาล ก็มีพม่านี่แหละที่ต้องช่วยกันลุ้นเหนื่อยทั้งโลก.

เกรียงศักดิ์ จุนโนนยาง

ไทยรัฐ


โอบามาคว้าชัยที่นอร์ทแคโรไลนาส่วนคลินตันเก็บคะแนนที่อินเดียน่าได้อย่างเฉียดฉิว

โอบามา-คลินตันชนะคนละรัฐฝ่ายหลังสู้ต่อ [8 พ.ค. 51 - 05:33]

ผลการเลือกตั้งขั้นต้นเพื่อเลือกตัวแทนพรรคเดโมแครตเข้าชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระหว่างนายบารัก โอบามา ส.ว.อิลลินอยส์ กับนางฮิลลารี คลินตัน ส.ว.นิวยอร์ก ยังดำเนินอย่างเข้มข้น โดยการเลือกตั้งขั้นต้นแบบไพรมารีที่รัฐอินเดียนา และนอร์ทแคโรไลนา เมื่อ 6 พ.ค.ที่ผ่านมา ปรากฏว่า นายโอบามาคว้าชัยในรัฐนอร์ทแคโรไลนาด้วยคะแนน 56-42 ขณะที่นางคลินตันได้รับชัยชนะในรัฐอินเดียนาแบบเฉียดฉิวด้วยคะแนน 51-49 ทำให้ขณะนี้ นายโอบามาสะสมจำนวนผู้แทนเลือกตั้ง หรือเดเลเกต 1,842 คน ในจำนวนนี้ รวมซุปเปอร์เดเลเกต หรือผู้แทนพิเศษ 257 คน ขณะที่นางคลินตันมีเดเลเกต 1,692 คน รวมซุปเปอร์เดเลเกต 271 คน

การเลือกตั้งที่เพิ่งเสร็จสิ้นลงใน 2 รัฐ ชี้ให้เห็นว่านางคลินตันเป็นฝ่ายเสียเปรียบเพราะนอกจากจะพ่ายแพ้ในรัฐใหญ่แล้ว ชัยชนะที่เธอได้รับในรัฐอินเดียนาก็เป็นไปแบบเส้นยาแดงผ่าแปด ตามกติกาของพรรคเดโมแครต ผู้สมัครที่มีเดเลเกตสะสม 2,025 คน จะได้เป็นตัวแทนพรรคไปชิงตำแหน่งประธานาธิบดีแข่งกับตัวแทนพรรครีพับลิกัน ซึ่งขณะนี้ นายโอบามาเหลือจำนวนเดเลเกตอีกเพียง 183 คน ก็จะครบ ทำให้เขามั่นใจว่าการแข่งขันเพื่อเป็นตัวแทนพรรคระหว่างเขากับนางคลินตันจะยุติในเร็วๆนี้ อย่างไรก็ตาม นางคลินตันประกาศสู้ ไม่ถอยโดยตั้งเป้าจะทำคะแนนจากซุปเปอร์เดเลเกต ทั้งนี้ ทั้งคู่ยังเหลืออีก 6 สนาม ที่จะชิงชัยกัน รัฐต่อไปที่จะมีการสัประยุทธ์คือ เวสต์เวอร์จิเนีย วันที่ 13 พ.ค.