Spiga

สหรัฐทุ่มงบมหาศาลแก้วิกฤติการเงิน

สหรัฐอาจต้องทุ่มเงินมหาศาลถึง 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อแก้วิกฤติการเงินที่กำลังลุกลามในประเทศ

หนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทมส์ รายงานว่า แผนการแก้วิกฤติการเงินที่เสนอโดยรัฐบาลสหรัฐ อาจใช้งบประมาณในการแก้ปัญหาสูงถึง 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 17 ล้านล้านบาท ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางคนคาดว่างบประมาณที่ใช้อาจสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 34 ล้านล้านบาท โดยแผนการแก้วิกฤติการเงินที่รัฐบาลสหรัฐวางไว้ ประกอบไปด้วยการเข้าซื้อทรัพย์สินจากสถาบันการเงินในสหรัฐ และการจ้างที่ปรึกษามาช่วยงานกระทรวงการคลัง เพื่อควบคุมให้แผนการที่วางไว้บรรลุผล

รายงานข่าวยังระบุว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายเฮนรี่ พอลสัน รัฐมนตรีคลัง พร้อมด้วยนายเบน เบอร์นันกี ประธานธนาคารกลางสหรัฐ ได้ขึ้นชี้แจงต่อรัฐสภายืนยันว่าระบบการเงินของสหรัฐใกล้จะล้มละลายแล้ว และเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา นายพอลสัน ยืนยันกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐว่า ระบบการเงินในสหรัฐจะพังพินาศ ถ้าไม่รีบออกมาตรการช่วยเหลือครั้งใหญ่ ขณะที่นายเบอร์นันกี ก็เตือนสมาชิกรัฐสภาว่า ถ้าไม่รีบหาทางแก้ไข ท้ายสุดแม้แต่กองทุนที่บริหารเงินอย่างระมัดระวังก็จะได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน

ด้านประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ก็ออกมายืนยัน จะใช้มาตรการที่ไม่เคยใช้มาก่อน เข้าคลี่คลายวิกฤติการเงินในขณะนี้ เพื่อพลิกฟื้นความเชื่อมั่นให้กลับคืนมา แต่เตือนว่า มาตรการดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อเงินภาษีของประชาชน เพราะเป็นการใช้งบประมาณแผ่นดินหลายแสนล้านดอลลาร์ไปซื้อหนี้เสียของระบบธนาคาร

ประธานาธิบดีบุชยังถือโอกาสนี้ เรียกร้องให้พรรครีพับลิกันและเดโมแครตร่วมมือกัน เพื่อช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากวิกฤติสินเชื่อจนลามไปยังระบบการเงินทั้งหมดของสหรัฐ ส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน ระบบการจ่ายเบี้ยบำนาญ และการดำเนินการของบริษัท.


โกลด์แมน-มอร์แกนยิ้มร่า เฟดไฟเขียวเปลี่ยนสถานะ

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อนุมัติคำร้องของ 'โกลด์แมน แซคส์' และ 'มอร์แกน สแตนลีย์' สองวาณิชธนกิจรายใหญ่สองแห่งสุดท้ายของประเทศ


ที่ต้องการเปลี่ยนสถานะบริษัทใหม่เป็น 'bank holding company' หรือบริษัทโฮลดิ้งธนาคารแล้วเมื่อวันอาทิตย์ นับเป็นการปรับโครงสร้างสถาบันการเงินครั้งใหญ่ที่สุดในตลาดวอลล์สตรีทตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรง (Great Depression) เมื่อราว 80 ปีก่อน

เฟดระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสถานะของโกลด์แมน แซคส์ และมอร์แกน สแตนลีย์ จะเปิดทางให้สถาบันการเงินสองแห่งนี้สามารถจัดตั้งธนาคารพาณิชย์รับฝากเงินเพื่อส่งเสริมรายได้ของสองบริษัทฃ

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังจะส่งผลให้ทั้งโกลด์แมน แซคส์ และมอร์แกน สแตนลีย์ ต้องเปลี่ยนมาดำเนินงานอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของเฟดโดยตรง ส่วนบริษัทลูกของสถาบันการเงินทั้งสองแห่งจะต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบที่เคร่งครัดเช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์ทั่วไป แตกต่างจากเดิมที่โกลด์แมนและมอร์แกนดำเนินการอยู่ภายใต้กฎของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เป็นหลัก

ราคาหุ้นของสถาบันการเงินสองแห่งนี้ ทรุดลงอย่างมากนับตั้งแต่เลห์แมน บราเธอร์ส ยื่นล้มละลายเมื่อสัปดาห์ก่อน ขณะที่เมอร์ริล ลินช์ วาณิชธนกิจอีกแห่ง ประสบปัญหาขาดทุนหนักจนต้องขายกิจการให้แบงก์ออฟอเมริกา ทำให้นักลงทุนหวั่นวิตกกับสถานการณ์ของสถาบันการเงินสหรัฐที่เหลือ

เฟดระบุด้วยว่าจะสนับสนุนเงินกู้ระยะสั้นให้แก่โกลด์แมนและมอร์แกนในช่วงระหว่างการเปลี่ยนสถานะ แต่มาตรการนี้ยังต้องรอการอนุมัติอีก 5 วัน

นับตั้งแต่ธนาคารแบร์สเติร์นส์ล่มสลายและขายกิจการในราคาถูกให้กับเจพีมอร์แกนเชส เมื่อเดือน มี.ค. เฟดก็เริ่มหันมาใช้อำนาจที่ได้รับมาเมื่อช่วง Great Depression ในการเพิ่มวงเงินกู้ฉุกเฉินให้แก่บรรดาวาณิชธนกิจและธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ขณะเดียวกันล่าสุดรัฐบาลสหรัฐก็กำลังผลักดันให้สภาคองเกรสเร่งอนุมัติงบ 7 แสนล้านดอลลาร์เพื่อจัดการหนี้เสียสถาบันการเงิน ซึ่งคาดว่าน่าจะผ่านความเห็นชอบภายในสัปดาห์นี้.


1 ความคิดเห็น:

Anonymous

Jan 28, 2009, 2:19:00 p.m.

ขอบคุณมากครับ