Spiga

อาร์โนลด์ ชวาร์เซเนกเกอร์หาเสียงช่วยจอห์น แมคเคนที่โอไฮโอ

Schwarzenegger Rallies Support for McCain in Ohio

อาร์โนลด์ ชวาร์เซเนกเกอร์ ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียหาเสียงช่วยจอห์น แมคเคนที่โอไฮโอเมื่อวัน ฮาโลวีน 31 ตุลาคมที่ผ่านมา


เมื่อได้ฟังชวาร์เซเนกเกอร์กล่าวปราศรัยหาเสียงช่วยจอห์น แมคเคนแล้ว ผู้เขียนคิดว่าน่าเสียดายที่ ชวาร์เซเนกเกอร์ ไม่ได้เกิดที่สหรัฐอเมริกาไม่อย่างนั้นเขาต้องมีโอกาสมากพอสมควรในการเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ เพราะชวาร์เซเนกเกอร์นับว่าเป็นนักปราศรัยที่เก่งมากคนหนึ่งทีเดียว คำพูดของเขามีพลังแม้สำเนียงอังกฤษของเขาจะไม่ใช่ native speaker เหมือนคนอเมริกันที่เกิดและเติบโตในอเมริกาดังที่เขาเคยกล่าวไว้ว่า "Naturally, when I came to this country, my accent was very bad, and my accent was also very strong, which was an obstacle as I began to pursue acting."

แต่ชวาร์เซเนกเกอร์นับเป็นตัวอย่างของผู้อพยพย้ายถิ่นฐาน(จากยุโรป)ที่ดีมากคนหนึ่งในเชิงสัญญลักษณ์ เพราะผู้ย้ายถิ่นฐานเช่นเขาที่ครั้งหนึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็น ผู้ย้ายถิ่นฐานที่เคยอยู่ในอเมริกาแบบผิดกฎหมาย(illegal immigrant) ในศตวรรษที่ 20 เพื่อเสาะแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าเดิม สามารถสร้างเนื้อสร้างตัวเริ่มต้นจากการเป็นนักแสดงจนก้าวเข้ามาสู่แวดวงการเมืองอมริกันที่ประสพความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่ง

การปราศรัยของชวาร์เซเนกเกอร์มีเสน่ห์และดูมีพลัง มีเซนต์ของอารมณ์ขันเรียกเสียงหัวเราะและรอยยิ้มจากผู้ฟังได้ มีนักการเมืองไม่มากที่ทำแบบนี้ได้ ที่สำคัญมันมีแรงบันดาลใจอยู่ในตัวเหมือนเช่นที่เขาหาเสียงช่วยประธานาธิบดีบุชในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2004 เพราะสิ่งที่เขาพูดมันมาจากประสพการณ์ตรงในชีวิตของเขาเมื่อเขายังอาศัยอยู่ในยุโรป ฟังแล้วมันจึงดูเป็นของจริงไม่ใช่โฆษณาชวนเชื่อหรือตีสำนวนโวหาร

ฟังชวาร์เซเนกเกอร์พูดถึงนโยบายเศรษฐกิจของโอบามาแล้วทำให้ผู้เขียนนึกถึงบทความชิ้นหนึ่งที่มีชื่อว่า The Europeanization of America:What's ahead if Obama becomes president ที่ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ เดอะ วอลสตรีท เจอร์นัลเมื่อเร็วๆนี้ บทความชิ้นนี้เป็นส่วนเสริมคำพูดของชวาร์เซเนกเกอร์ได้ชัดเจนที่สุดในแง่ที่ว่า อเมริกาในยุคโอบามาจะย้อนกลับไปสู่การเป็นรัฐสวัสดิการที่อิงระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมมากขึ้นที่คล้ายแนวทางแบบประเทศในแถบยุโรปสมัยก่อน(ปัจจุบันยุโรปมีการปรับเปลี่ยนนโยบายทางเศรษฐกิจคล้ายกับอเมริกาบ้างบางส่วนในบางประเทศ) คือ

-มีการจัดเก็บภาษีรายได้เพิ่มขึ้นในส่วนของ ชนชั้นกลาง ชนชั้นกลางสูงและในภาคธุรกิจตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่และในระดับปัจเจกบุคคลจะต้องเสียภาษีประกันสังคม(Social Security Taxes) ที่สูงขึ้น มาตราการทางด้านภาษีใหม่ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้บรรลุเจตนารมณ์ "spreading the wealth around" คือนำเงินของคนที่ทำงานหนักไปโปะให้กับคนที่มีรายได้น้อยและไม่เสียภาษีของท่านประธานาธิบดีคนใหม่นั่นเอง

ซึ่งมาตราการการจัดเก็บภาษีของโอบามานี้ธุรกิจขนาดเล็กจะได้รับผลกระทบมาก และธุรกิจขนาดเล็กคือหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอเมริกาที่ครองสัดส่วนถึง 60% และก่อให่เกิดจ้างงานเกือบ 100 %

- ค่าใช้จ่ายทั้งหมดของรัฐบาล(government spending) จะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลถึง 300 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปีภายใต้นโยบายของโอบามา เมื่อเทียบ government spending ของโอบามาและรัฐบาลในอดีตแล้วถือว่าเยอะกว่ามาก ภายใต้แผนของโอบามาต้องใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นกว่า 10% ต่อปีในขณะที่ government spending สมัยรัฐบาลบุชผู้พ่อเพิ่มขึ้น 6.7 สมัยคลินตัน 3.3% และสมัยจอร์จ บุชปัจจุบันที่หลายๆคนกล่าวหาเขาว่าใช้งบประมาณสิ้นเปลืองไปกับสงครามอิรัคเพิ่มขึ้นเพียง 6.4 %

-กฎระเบียบกลางของรัฐที่มีต่อภาคเศรษฐกิจจะขยายตัวกว้างขึ้นเข้าควบคุมในทุกส่วนตั้งแต่บริษัทบริหารด้านการเงินไปจนถึงสถานีผลิตไฟฟ้าและการใช้พลังงานส่วนบุคคล

และนอกเหนือจากนั้นลัทธิปกป้องผลประโยชน์ทางการค้า(Protectionism) จะกลับมาเป็นนโยบายทางการค้าหลักเหมือนเดิม และข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับชาติอื่นๆ(รวมถึงประเทศไทย)จะถูกจำกัดและลดลงตามมา

ยุโรปและแคนาดาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การมีรัฐบาลลิเบอร์รัลที่ปกครองประเทศอยู่เป็นเวลานานนั้นทำให้ประเทศเสื่อมถอยลงขนาดไหน และถูกจำกัดทั้งโอกาสการแข่งขันทางธุรกิจและการสร้างงาน ซึ่งในตอนนี้แคนาดาหลังจากที่พรรคอนุรักษ์นิยมสามารถรั้งเก้าอี้นายกฯไว้ได้อีกสมัยก็เปลี่ยนทิศทางการบริหารประเทศที่ออกห่างแนวคิดเสรีนิยม(ลิเบอร์รัล)มากขึ้น พรรคเดโมแครตใช้วิกฤตการเงินที่่เกิดขึ้นอยู่ในตอนนี้มาเป็นข้ออ้างในการผลักดันนโยบายรัฐสวัสดิการและระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมนั่นเองแม้รากเหง้าแห่งการเกิดวิกฤติการเงินนั้นจะมาจากนโยบายที่เน้นความเป็นสังคมนิยมและขาดกฎระเบียบควบคุมที่ดีนั่นเอง

และเมื่อได้ฟังชวาร์เซเนกเกอร์พูดถึง คาแรคเตอร์ของโอบามาและความเป็นเสรีนิยมของเขาเปรียบเทียบกับจอห์น แมคเคนที่ถือคติ "ประเทศชาติต้องมาก่อน(put country first)" ตลอดชีวิตของเขาแล้วแม้กระทั่งประกาศว่า "ผมยอมสูญเสียชัยชนะในการเลือกตั้งดีกว่าที่จะเห็นประเทศอเมริกาของผมต้องพ่ายแพ้ในสงครามอิรัค" นี่แหละคาแรคเตอร์ของแมคเคน เมื่อครั้งที่เขาในฐานะนักการเมืองรีพับลิกันอาจจะเรียกว่าเป็นสมาชิกสภาคองเกรสจากรีพับลิกันคนเดียวก็ได้ที่สนับสนุนนโยบาย Bush's surge strategy อย่างแข็งขันคู่กับ โจ ลิเบอร์จากพรรคเดโมแครต ขณะที่ Republican lawmakers คนอื่นๆไม่เห็นด้วย ผู้เขียนขอเรียกว่านี่คือ ความผิดพลาดของรีพับลิกันเองก็ได้ในเรื่องสงครามอิรัคที่ไม่ยอมยืนอยู่เคียงข้างประธานาธิบดีของตนให้ตลอดรอดฝั่ง เพราะในตอนนี้ความไม่สงบในอิรัคแทบจะไม่มีให้เห็นและระดับความรุนแรงลดลงไปน้อยมากหลังจากที่ "ยุทธศาสตร์การเพิ่มทหารในอิรัคของประธานาธิบดีบุช"หรือ Bush's surge strategy ถูกนำไปใช้ในทางปฎิบัติ ล่าสุดสำนักข่าวเอพีได้รายงานถึงสถานการณ์การรักษาความปลอดภัยในอิรัคว่าพัฒนาไปในทางทีดีขึ้นทั้วทัั้งประเทศโดยระบุว่า

"The sharp drop in American fatalities in Iraq reflects the overall security improvements across the country following the Sunni revolt against al-Qaida and the rout suffered by Shiite extremists in fighting last spring in Basra and Baghdad."

ซึ่งแม้แต่บารัค โอบามายังยอมรับว่า surge ประสพผลสำเร็จในหนทางที่ไม่มีใครเคยคาดหวังไว้ว่ามันจะได้ผลโดยกล่าวว่า "I think that the surge has succeeded in ways that nobody anticipated" แต่แน่อนอนว่านักการเมืองที่เล่นการเมืองเก่งแบบโอบามาคือ "คลุมเครือไว้ก่อนและพร้อมต่อรองได้ในทุกนโยบาย" ย่อมที่จะหลีกเลี่ยงใช้คำว่า "ชัยชนะ" ในสงครามอิรัคแต่ขอพูดว่าเขาจะเป็นผู้ "จบ" สงครามในอิรัคแทนตลอดแคมเปญหาเสียงของเขาเพื่อไม่ต้องการให้เครดิตกับประธานาธิบดีบุช(แม้มันจะเป็นเรื่องของชาติก็ตามแต่พรรคเดโมแครตต้องมาก่อน)

แต่ล่าสุดนี่โอบามากลับออกมาออกมาพูดยืนยันว่า
Throughout this campaign I’ve argued that we need more troops and more resources to win the war in Iraq. But we also need a new strategy that deals with Pakistan that deals with issues of corruption that deals with issues of narco-terrorism. We need a comprehensive strategy and approach to confront the growing threat from al Qaeda along the Pakistani border”

แล้วที่เคยหาเสียงบอกว่าหากได้เป็นประธานาธิบดีแล้วตนเองจะ “จบ” สงครามในอิรัค( "end" war in Iraq) และ “เอาชนะ” ในสงครามต่อต้านก่อการร้ายในอาฟกานิสถานมาตลอดล่ะหายไปไหน ผู้เขียนฟังแล้วรู้สึกแปลกใจว่า “จุดยืนเดิม” ของโอบามาเรื่องอิรัคและอาฟกานิสถานหายไปไหนแล้ว? เพราะผู้เขียนฟังเขาหาเสียงเรื่องอิรัคและอาฟกานิสถานทีไรเขาก็บอกว่า การเพิ่มกำลังทหารและทรัพยากรจะนำไปสู่ความสำเร็จในอาฟกานิสถาน แต่หากใช้นโยบายเดียวกันนี้คือเพิ่มกำลังทหารและทรัพยากรจะนำไปสู่ความล้มเหลวในอิรัค

แต่ในวันนี้มาบอกว่า “ตลอดการหาเสียงของผม ผมอภิปรายอยู่เสมอว่าเราต้องการกำลังทหารมากขึ้นและทรัพยากรมากขึ้นเพื่อให้ได้รับชัยชนะในอิรัค” แบบนี้เรียกว่าก็อปนโยบาย Bush's 'surge' strategy มาก็คงไม่ผิดนัก นี่อาจเป็นครั้งแรกในการหาเสียงของเขาที่ยอมใช้คำว่า “ชัยชนะ” ในอิรัคจากที่เคยใช้ต้อง “จบ” สงครามในอิรัค

หากโอบามาไม่พูดผิดก็คงเปลี่ยนจุดยืนกระทันหันแต่ลิเบอร์รัลมีเดียไม่กล้านำไปขยายความเพราะกลัวโอบามาจะถูกดิสเครดิตแต่หากเป็นแมคเคนพูดอย่างนี้เขาต้องถูกลิเบอร์รัลมีเดียเล่นข่าวนี้ไปอีกเป็นอาทิตย์

หากโอบามาไม่มุ่งชัยชนะในอิรัคเมื่อเป็นประธานาธิบดี อีก 4 ปีข้างหน้าเขาจะไม่สามารถป้องกันตำแหน่งได้แน่นอน ปีนี้ถือว่าโชคดีที่อเมริกาเกิดวิกฤตการเงินก่อน เขาเลยอยู่ในฐานะได้เปรียบแมคเคน แม้สื่อจะพยายามบอกว่าคนอเมริกันไม่ชอบ “war” แต่คนอเมริกันนั้นไม่ต้องการ “lose this war” แน่นอน ตรงนี้สิสำคัญ

เห็นนักต่อต้านสงครามอิรัคโดยเฉพาะพวกหัวเอียงซ้ายบอกว่าหากเลือกโอบามามาแล้ว คงไม่มีสงคราม แต่จริงๆแล้ว หากเราลองตรองดูสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นนั้น จะเห็นว่าประธานาธิบดีบุชไม่ได้เป็นฝ่ายที่นำสงครามมาให้อเมริกาแต่กลุ่มก่อการร้ายมุสลิมหัวรุนแรงต่างหากที่เป็นผู้นำสงครามมาให้อเมริกา อาจเรียกได้ว่าทั้งสงครามปราบผู้ก่อการร้ายในอาฟกานิสถานและอิรัคนี่คือ การ self defense นั่นเอง

โอบามาเองนั้นเมื่อตอนดีเบทเขาพูดชัดเจนว่า หากเขาพบว่ามีข่าวกรองที่แม่นยำและเชื่อถือได้ว่าอัลไคด้าต้องการโจมตีอเมริกาแต่ปากีสถานยังไม่ยอมดำเนินการ เขาจะส่งกองทัพอเมริกาไปถล่มผู้ก่อการร้ายในปากีสถานเองโดยไม่สนใจหลักอำนาจอธิปไตยของปากีสถานเพราะถือว่าเป็นการปกป้องชาวอเมริกันโดยตรง ตรงนี้มันก็ไม่ต่างจากการที่ประธานาธิบดีบุชนำกองทัพบุกอิรัคโค่นล้มซัดดัมเมื่อซัดดัมไม่ปฎิบัติตามมติสหประชาชาติและอาศัยข่าวกรองที่ได้รับจากสมัยรัฐบาลคลินตันนั่นเองและก็เป็นคลินตันนี่แหละที่เป็นผู้กล่าวว่า "อัลไคด้าเริ่มสานสัมพันธ์กับอดีตผู้นำอิรัคซัดดัม ฮุสเซ็น" แต่สิ่งที่ต่างกันระหว่างปากีสถานและอิรัคคือ รัฐบาลปากีสถานหาได้เป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐอเมริกาแต่รัฐบาลอิรัคภายใต้การนำของซัดดัม ฮุสเซ็นนั้นนอกจากจะเป็นภัยคุกคามแล้วยังเคยรบกับอเมริกามาก่อนด้วย

เมื่อกล่าวถึงประธานาธิบดีบุช นักวิจารณ์หัวเสรีนิยมมักจะยกเรื่อง Job Approval Ratings ของประธานาธิบดีบุชที่ต่ำกว่า 35 เปอร์เซ็นในตอนนี้มาเป็นตัววัดว่านี่คือการบริหารงานที่ล้มเหลว ผู้เขียนขอเห็นตรงข้ามว่านี่คือการวิเคราะห์อย่างหยาบและสายตาสั้นในหมู่ที่เป็นอนุรักษ์นิยมนั้นประธานาธิบดีบุชก็ยังได้รับความนิยมมากกว่า 70 %

ไม่มี wartime president คนไหนหรอกที่ได้รับความนิยมสูงเกินกว่า 40 % ประธานาธิบดีเฮนรี่ ทรูแมนจากพรรคเดโมแครตเป็นผู้ที่ได้รับความนิยมหลังจบเทอมต่ำสุดเมื่อปี 1952 แต่เมื่อเวลาผ่านมาหลายปีผู้เขียนก็ยังเห็นคนอเมริกันโดยเฉพาะเดโมแครตชื่นชมและยกย่องทรูแมนอยู่ในหลายเรื่องมากเลยทีเดียว job approval ratings ใช้เป็นปัจจัยชี้ความนิยมเฉพาะช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น เพราะผลงานบางอย่างในการบริหารมันต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์และมีสิ่งที่เปรียบเทียบในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นคล้ายกัน

ประธานาธิบดีบุชก็เช่นกันในวันนี้ approval ratings อาจต่ำแต่ไม่เกิน 15 ปีหรอกกาลเวลาจะพิสูจน์เองว่าประธานาธิบดีบุชนี่แหละที่โลกจะต้องขอบคุณเขาในการสร้างประชาธิปไตยในอิรัคเพราะสถานการณ์ในอิรัคตอนนี้ เสรีภาพและประชาธิปไตย ค่อยๆก้าวย่างไปข้างหน้าในทางทีดีขึ้นทุกวันแม้จะเป็นก้าวที่ไม่โตนักแต่ถือว่าเริ่มต้นตั้งไข่และเดินได้แล้วและชาวอเมริกันจะต้องนึกถึงประธานาธิบดีบุชเหมือนที่พวกเขาต้องขอบคุณอับราฮัม ลินคอล์น(จากรีพับลิกัน)มาแล้ว

และใครจะไปรู้อีกไม่เกินยี่สิบปีข้างหน้าประชาธิปไตยในอิรัคอาจหยั่งรากลึกลงในสังคมอิรัคมากกว่าประชาธิปไตยในประเทศไทยก็เป็นได้เพราะอิรัคขาดซึ่ง "มือที่มองไม่เห็น" นั่นเอง ... คิก คิก :D


1 ความคิดเห็น:

Anonymous

Dec 11, 2009, 6:47:00 p.m.

I should notify my girlfriend about this.