Spiga

ปัจจัยที่เอื้อโอกาสให้โอบามามีชัยเหนือแมคเคน

วันนี้วันที่ 4 พฤศจิกายนเป็นวันเลือกตั้งสหรัฐ ไม่ว่าใครได้เป็นประธานาธิบดีในวันนี้จะสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับการเมืองอเมริกันไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดีผิวสีคนแรก หรือ ประธานาธิบดีที่มีอายุมากที่สุดหรือรองประธานาธิบดีหญิงตนแรกของอเมริกา

เหลืออีกเวลาไม่ถึง 10 ชั่วโมงก็จะปิดหีบการเลือกตั้งแล้ว การเลือกตั้งครั้งนี้ส่วนตัวผู้เขียนในฐานะอิงการเมืองอนุรักษ์นิยมและรักรีพับลิกันไม่เสื่อมคลายขอสนับสนุนจอห์น แมคเคนนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐต่อจากประธานาธิบดีบุชแม้การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็น Democratic Year โอกาสที่แมคเคนจะเอาชนะโอบามาไม่มากก็ตามแต่เพื่อให้อุดมการณ์ของ conservatism ได้ถูกนำมาปฎิบัติใช้ในรูปของนโยบายเพื่อสนองตอบชาวอนุรักษ์นิยม อย่างไรเสียวันนี้ก็ต้องลุ้นแมคเคนเพราะยังไงแมคเคนก็ยังเป็นกระแสหลักอนุรักษ์นิยมอยู่

ยอมรับว่าจริตทางการเมืองของผู้เขียนนั้นกลืนอดุมการณ์เสรีนิยม(Liberal) และนโยบายของเดโมแครตไม่ลงจริงๆ โดยเฉพาะทัศนคติของพวกสื่อและนักวิชาการหัวเสรีนิยมสุดโต่งที่สนับสนุนเดโมแครตนั้นหากเทียบกับการเมืองไทยแล้ว ไม่ต่างจากสื่อและพวกนักวิชาการไทยหัวเสรีนิยมที่ส่วนใหญ่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ยังไงยังงั้น นักวิชาการไทยหัวเสรีนิยมพวกนี้ยังต้องเรียก “นักวิชาการหัวเสรีนิยมสุดโต่งในอเมริกา” ว่า “พี่” เลยแหละ แต่สิ่งที่ต่างกันคือ การเมืองในอเมริกาเป็นการต่อสู้กันในระบอบประชาธิปไตยและฝ่ายที่พ่ายแพ้การเลือกตั้งยอมรับผลที่ออกมา แม้จะมีพวกไม่เคารพการตัดสินใจของคนส่วนใหญ่อยู่บ้างก็ตามแต่ก็ไม่ได้จัดการประท้วงยืดเยื้อเพื่อล้มฝ่ายที่ชนะการเลือกตั้งเหมือนที่เมืองไทยแต่อย่างใดแต่เลือกอพยพไปอยู่แคนาดาแทน :D มีให้เห็นมาแล้วที่พวกเชียร์เดโมแครตผิดหวังการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2000 และ 2004 ทำใจไม่ได้และร้องให้คร่ำครวญอยากย้ายไปอยู่แคนาดา บางคนก็ทำจริงแต่บางคนก็พูดเฉยๆ

การต่อสู้ทางการเมืองของสหรัฐอเมริกานั้นเป็นการต่อสู้กันทางอุดมการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ และเป็นสงครามวัฒนธรรมด้วยคือเป็นการต่อสู้ระหว่าง

คนเมืองรวมไปถึงพวกชนกลุ่มน้อย ดาราฮอลลีวู้ดอีโก้สูง นักวิชาการหัวเสรีนิยมที่ส่วนใหญ่จะสิงสถิตย์อยู่ตามมหาวิทยาลัยต่างๆในอเมริกาและสื่อกระแสหลัก(ยกเว้นฟ็อกซ์ นิวส์) ที่นิยมพรรคเดโมแครต
VS.
คนชนบทในเมืองเล็กที่ไม่มีทั้งสื่อกระแสหลักและนักวิชาการในมหาวิทยาลัยเป็นพวกสนับสนุนแข็งขันที่นิยมพรรครีพับลิกัน


คำพูดที่ผู้เขียนมักจะได้ยินออกมาจากปากของพวกเสรีนิยมสุดโต่งที่นิยมพรรคเดโมแครตนั้นจะออกไปในแนวทางที่เป็นลบอย่างมากกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมเป็นต้นว่า

พวกอนุรักษ์นิยมบ้าศาสนา งมงายในศาสนาต่อต้านวิทยาศาสตร์
พวกอนุรักษ์นิยมส่วนใหญ่ที่เลือกรีพับลิกัน การศึกษาน้อย และไง่
พวกอนุรักษ์นิยมบ้าสงคราม
พวกอนุรักษ์นิยมชอบลดภาษีให้กับคนรวย ไม่สนใจชนชั้นกลาง
พวกอนุรักษ์นิยมเป็นพวกเหยียดผิว
พวกอนุรักษ์นิยมส่วนใหญ่เป็นพวกบ้านนอก
รีพับลิกันชอบโกงการเลือกตั้ง
และอื่นๆอีกมากมาย

ความคิดเห็นและประเด็นที่กล่าวมาข้างต้นนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่เห็นได้ตามเว็บไซท์ บล็อคหรือเว็บบอร์ดทั้วไปของพวกหัวเอียงซ้ายหรือหัวเสรีนิยมในอเมริกานี่คือความคิดเห็นของพวก “เสรีนิยมสุดโต่ง” คือ มองว่าตัวเองเรียนสูง เก่ง ฉลาด อยู่ฝ่ายเดียวแต่คนที่เลือกพรรครีพับลิกันนั้น “โง่” และ “ไม่ถูก” ทั้งหมด

ข้อกล่าวหาที่มีต่ออนุรักษ์นิยมจากปากของพวกเสรีนิยมสุดโต่งที่ผู้เขียนลิสต์มาให้ดูข้างต้นนั้นไม่ใช่เป็นความคิดเห็นของอเมริกันชนส่วนใหญ่ หากอเมริกันชนส่วนใหญ่คิดแบบนี้ทั้งหมดเราคงไม่ได้เห็นประธานาธิบดีที่มาจากรีพับลิกันเป็นแน่แท้

การเลือกตั้งประธานาธิบดีแทบทุกครั้งที่ผ่านมาจะมีจำนวนคนที่ลงทะเบียนเป็นเดโมแครตมากกว่ารีพับลิกันมากแต่นั่นไม่ได้การันตีว่าเดโมแครตจะเป็นฝ่ายชนะเสมอไปเพราะเมื่อครั้งที่รีพับลิกันชนะการเลือกตั้งจำนวนคนที่ลงทะเบียนสังกัดเดโมแครตก็มากกว่ารีพับลิกันมาตลอด แต่หากถามว่าเป็นอนุรักษ์นิยมหรือลิเบอร์รัลคนอเมริกันส่วนใหญ่จะบอกว่าตนเป็นอนุรักษ์นิยมมากถึง 57 % ขณะที่มีเพียง 37% เท่านั้นที่บอกว่าตัวเองเป็นลิเบอร์รัล

โดยธรรมชาติแล้ว คนอเมริกันส่วนใหญ่เป็น center-right

แต่กระนั้นก็ตาม การเลือกประธานาธิบดีแต่ละครั้งมันขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและสถานการณ์ด้วยเพราะบางครั้งวิกฤต หรือ สถานการณ์ก็สามารถสร้างความได้เปรียบให้กับผู้สมัครคนนั้นเช่นกัน ต้องบอกว่าในปีนี้บารัค โอมาบาโชคดีที่เกิดวิกฤตการเงินในอเมริกาก่อนจากที่คะแนนนิยมของเขายังไล่ตามแมคเคนอยู่ก็เบียดแซงหน้าไปได้เพราะวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นแค่ 4 สัปดาห์ที่ผ่านมานั่นเองหากไม่มีวิกฤตการเงินเกิดขึ้นในครั้งนี้ โอกาสที่โอบามาจะเอาชนะแมคเคนไปแบบง่ายๆนั้นแทบเป็นศูนย์

ด้วยเหตุนี้หากให้ผู้เขียนสรุปปัจจัยในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมาที่ทำให้โอบามาได้เปรียบแมคเคนอยู่มากคือ

1. ปัญหาวิกฤตการเงินในวอลสตรีทที่เมนสตรีทได้รับผลกระทบด้วย ดังนั้นความรู้สึกของประชาชนคือ ต้องลงโทษพรรคที่เป็นรัฐบาลไว้ก่อนแม้ในสภาฯคองเกรสที่เป็นฝ่ายนิติบัญญ้ติและเดโมแครตครองเสียงข้างมากในสภาฯจะมีบทบาทสำคัญมากที่สุดในการรับผิดชอบวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ก็ตาม แต่การกล่าวโทษฝ่ายบริหารนั้นง่ายที่สุด ตรงนี้ไม่จำเป็นว่ารัฐบาลที่มาจากพรรครีพับลิกันต้องถูกกล่าวโทษเสมอไป หากรัฐบาลชุดปัจจุบันมาจากพรรคเดโมแครตพวกเขาก็ต้องตกอยู่ในสภาวะที่ยากลำบากเช่นกัน เพราะประว้ติศาสตร์การเมืองอเมริกันพิสูจน์ให้เห็นมาแล้ว

แต่ที่น่าสนใจที่คนนิยมเดโมแครตต้องกลับไปถามตัวเองคือ ที่โอ่ว่า บิล คลินตัน บริหารประเทศดี เศรษฐกิจดี เหตุใด อัลเบิร์ต กอร์ จึงไม่สามารถเอาชนะจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช จากพรรครีพับลิกันไปได้อย่างขาดลอยในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2000 ในทางตรงกันข้ามยังแพ้ให้กับท่านบุชเสียด้วยซ้ำ

หากบิล คลินตันบริหารประเทศได้เยี่ยมยอดจริงตามคำกล่าวยกยอของพวกเดโมแครตและลิเบอร์รัล มีเดียในอเมริกาเชียร์อย่างสุดลิ่มทิ้มประตู ทำไมผลงานของเขาจึงไม่ทำให้กอร์ได้รับอานิสงค์สามารถเอาชนะจอร์จ บุชไปได้อย่างถล้มทลายในปีนั้น?

2. ทุนทรัพย์ เรียกว่าในปีนี้โอบามามีทุนทรัพย์ในการหาเสียงเลือกตั้งมากกว่าแมคเคนหลายเท่าตัวอันเป็นผลมาจากการแข่งขันในระดับไพรมารีที่ยาวนานของพรรคเดโมแครตด้วยนั่นเอง โอบามาใช้เงินในการหาเสียงครั้งนี้มากกว่าแมคเคนเกือบ 4 เท่าตัว

3. McCain Campaign นั้นไม่เก่งและทำงานได้มีประสิทธิภาพไม่เท่าแคมเปญของโอบามา ต้องยอมรับว่าโอบามาบริหารแคมเปญได้เก่งกว่าแมคเคนและทำผิดพลาดน้อย รวมไปถึงกองทัพสื่อที่ให้สัญญาณไฟเขียวให้โอบามาผ่านตลอดในขณะที่แมคเคน-เพลิน ต้องเจอไฟอแดงอยู่ทุกสี่แยก แต่การที่บริหารแคมเปญมีประสิทธิภาพไม่ได้หมายความว่านี่คือ “หลักฐาน” ที่พิสูจน์ว่าจะสามารถเป็นประธานาธิบดีได้และไม่ได้บอกว่าการบริหารแคมเปญเก่งจะเป็นประธานาธิบดีที่ดีได้

ที่ผู้เขียนเห็นผลงานชัดๆของโอบามาที่สร้างความประทับใจมีอยู่แค่สองอย่างคือ 1.บริหารแคมเปญได้มีประสิทธิภาพ และ 2.บรรยายชีวประวัติตัวเองลงในหนังสือ เป็นการสร้างภาพปูทางเพื่อลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีไว้ก่อนนั่นเอง

เพราะจริงๆแล้วเรื่องเศรษฐกิจและIdeology ของโอบามามีจุดอ่อนให้โจมตีเยอะแยะโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพความเป็นเสรีนิยมและนโยบายเศรษฐกิจที่ออกไปในทางสังคมนิยมของเขา แต่น่าเสียดายว่า McCain Campaign เพิ่งมามองเห็นก็เมื่อช่วงใกล้เลือกตั้งแล้ว จริงๆแล้วหาก McCain Campaign ยอมฟังคำแนะนำของบิล คริสตัลมากสักนิด พวกเขาคงไม่อยู่ในสถานการณ์ที่เป็นรองขนาดนี้

4. แมคเคนผิดพลาดที่พยายามหาเสียงโดยยืนระยะห่างจากประธานาธิบดีบุช ตรงกันข้ามสิ่งที่เขาต้องทำคือ ต้องทำให้นโยบายบริหารของบุชนั้นได้รับความนิยมและสานต่อต่อไป เพราะนโยบายการบริหารของบุชโดยรวมแล้วคือแก่นสำคัญของ conservatism แมคเคนนั้นมีจุดยืนหลายอย่างที่ต่างจากบุชซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ฐานเสียงรีพับลิกันไม่สนับสนุนเขามากเท่ากับสมัยบุชเมื่อ 4 ปีที่แล้วและเรามองย้อนกลับไปดูผู้ที่โหวตให้แมคเคนในรอบไพรมารี่นั้นส่วนใหญ่จะเป็นผู้ออกเสียงอิสระและเดโมแครต แต่มิท รอมนีย์ และฮัคคาบีคือผู้ที่ได้เสียงจากอนุรักษ์นิยมมากที่สุด

หากแมคเคนต้องการมีชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ แคมเปญของเขาไม่ควรยืนระยะห่างจากนโยบายของบุชทุกเรื่องเพราะนโยบายส่วนใหญ่ของบุชคือแก่นกลางของอนุรักษ์นิยม การที่จะชนะเลือกตั้งให้ได้นั้นอย่างแรกคุณต้องยึดฐานเสียงอนุรักษ์นิยมไว้ก่อนแล้วจึงค่อยเอื้อมไปหาผู้ออกเสียงอิสระเพราะธรรมชาติของผู้ออกเสียงอิสระนั้นจะยืดหยุ่นกับทุกนโยบาย หากนโยบายไหนของเดโมแครตดีเขาก็เลือกผู้สมัครจากเดโมแครต แต่หากนโยบายไหนของรีพับลิกันที่เขาชอบใจ เขาก็เลือกรีพับลิกัน

แต่การที่แมคเคนแสดงตัวว่าเป็นมาเวอร์ริคนั้นเพราะนั่นคือคาแรคเตอร์ที่โดดเด่นของเขาเพราะเขาทำงานได้กับทั้งเดโมแครตและรีพับลิกัน แต่ทว่ามันก็มีจุดอ่อนคือถูกต่อต้านทั้งจากผู้สนับสนุนทั้งสองพรรค

ประธานาธิบดีบุชคือตัวอย่างที่ดีที่สุดในการขอร่วมทำงานกับทั้งสองพรรคเมื่อเขาได้รับการเลือกตั้งกลับเข้ามาใหม่ในปี 2004 ประธานาธิบดีบุชบอกกับผู้ไม่เลือกเขาและเลือกจอห์น เคอร์รี่ว่า

"วันนี้ ผมต้องการกล่าวกับทุกๆคนที่เลือกคู่ต่อสู้ของผมว่า เพื่อทำให้ชาติของเราแข็งแกร่งขึ้นและดีขึ้นกว่าเดิม ผมจำเป็นต้องการการสนับสนุนจากคุณทุกคนและผมจะทำงานเพื่อให้ได้มันมา ผมจะทำทุกอย่างที่ผมสามารถทำได้เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากพวกคุณ"

แต่ประธานาธิบดีบุชท่านต้องจ่าย "ความพยายามอย่างหนักในการทำงานร่วมกับสองพรรค" ด้วยราคาที่แสนแพงกับการได้รับการต่อต้านจากทั้งสองพรรค เพราะมันก็เหมือนกับ "คุณบอกรักผู้หญิงสองคน" ในเวลาเดียวกันนั่นเอง แต่นี่คือความเป็น compassionate conservative ของท่าน


ดังนั้นแมคเคนแคมเปญจึงผิดพลาดมากที่หาเสียงโดยตีตัวออกห่างจากประธานาธิบดีบุช ตรงกันข้ามเขาต้องชูโรงผลงานการบริหารที่ประสพความสำเร็จของบุช ไม่ใช่บอกว่ายืนตรงข้ามกับรัฐบาลบุชไปหมดทุกอย่างเพราะในความเป็นจริงนั้นการบริหารงานของบุชตลอด 8 ปีที่ผ่านมาถือว่าท่านทิ้งผลงานที่น่าประทับใจไว้ให้หลายชิ้นแต่อยู่ที่ว่าคนจะเลือกมองมุมไหนเท่านั้นเอง แม้จะมีนโยบายบางส่วนที่ทำแล้วไม่ประสพผลสำเร็จเท่าที่ควรแต่โดยรวมแล้วถือว่าใช้ได้เลยเพราะอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของอเมริกาในภาวะวิกฤตการเงินก็ยังโตกว่ายุโรปและแคนาดา

รัฐบาลบุชนี่เป็นรัฐบาลที่เจอบททดสอบอย่างหนักเรียกว่าเจอของแข็งทั้งจากภายในและนอกประเทศมากกว่ารัฐบาลคลินตันหลายเท่าตัวแต่อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจก็ยังขยายตัวแม้จะไม่โตมาก อัตราการว่างงานก็ถือว่าต่ำแค่ 7 % ไม่อาจเรียกว่าเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ได้เลยเพราะเกรทดีเพรสชั้นนั้นอัตราการว่างงานสูงถึงเกือบ 30 % แม้จะถูกรุมเร้าด้วยภาวะฟองสบู่แตกของธุรกิจดอทคอมที่เริ่มก่อตัวสมัยปลายรัฐบาลคลินตันและมาแตกตอนปี 2001, ไหนจะเหตุการณ์ 9-11 ที่มาเกิดในสมัยเปลี่ยนผ่านรัฐบาล(เพราะรัฐบาลคลินตันเก็บของสกปรกไว้ใต้พรมเยอะด้วยนโนยบายด้านความมั่นคงที่อ่อนแอ) พอบุชเข้ามาไม่ถึง 5 เดือนก็เกิดเหตุการณ์ผู้ก่อการร้ายถล่มอเมริกาเสียแล้ว รวมไปถึงสงครามอิรัคและอาฟกานิสถานและวิกฤตการเงินที่มีรากเหง่ามาจากนโยบาย “เอาใจผู้มีรายได้น้อยให้มีบ้านเป็นของตัวเอง” ของพรรคเดโมแครตแต่ไม่ยอมดูศักยภาพว่าคนจนที่อุ้มนั้นจะจ่ายได้หรือไม่

ชาวรีพับลิกันที่ส่วนใหญ่(แม้ไม่ทั้งหมด)นั้นไม่นิยมแมคเคนมากเท่าไหร่เพราะเขาดูไม่ใช่อนุรักษ์นิยมเต็มตัว ก่อนที่เขาจะเลือกซาร์ร่าห์ เพลินมาเป็นคู่รองประธานาธิบดีนั้นคะแนนนิยมเขาในหมู่อนุรักษ์นิยมนั้นต่ำกว่าคู่ชิงประธานาธิบดีที่มาจากรีพับลิกันในอดีตเกือบทั้งหมดแต่ซาร์ร่า เพลินได้เปลี่ยนใจอนุรักษ์นิยมหันมาสนับสนุนเขาอีกครั้งแม้จะเทียบไม่ได้กับที่อนุรักษ์นิยมสนับสนุนบุชเมื่อ 4 ปีที่แล้ว

ตัวผู้เขียนเองนั้นไม่เคยเชียร์แมคเคนเลยในตอนหยั่งเสียงขั้นต้นแต่คนที่ผู้เขียนเชียร์สุดๆคือ "มิท รอมนีย์" แต่น่าเสียดายว่า เขาไม่ชนะเพราะคะแนนถูกแบ่งไปให้ไมค์ ฮัคคาบีด้วยเพราะมิท รอมนีย์คือตัวแทนของอนุรักษ์นิยมจริงๆ แต่พื่อให้อุดมการณ์ของ conservatism ได้ถูกนำมาปฎิบัติใช้ในรูปของนโยบายเพื่อสนองตอบชาวอนุรักษ์นิยมในประเทศ อย่างไรเสียก็ต้องให้การสนับสนุนแมคเคนต่อไปเพราะยังไงแมคเคนก็ยังเป็นกระแสหลักอนุรักษ์นิยมอยู่

5. เนื่องด้วยโอบามาเป็นนักการเมืองหน้าใหม่(ถึงจะไม่ใหม่แบบถอดด้าม)และยังไม่มีผลงานอันโดดเด่นและไม่เคยบริหารประเทศมาก่อน ดังนั้นเมื่อประกอบเข้ากับสถานการณ์วิกฤติการเงินที่เกิดขึ้น เขาจึงอยู่ในฐานะได้เปรียบเพราะ “ไม่มีผลงาน ไม่มีความผิด” เหมือนพรรคประชาธิปัตย์ในเมืองไทยนั่นล่ะค่ะ...อิอิ ซึ่งต่างกับประธานาธิบดีบุชที่บริหารประเทศมาสองสมัยก็มีทั้งผลงานที่ประสพความสำเร็จและสำเร็จน้อยให้ฝ่ายตรงข้ามได้นำไปวิพากษ์วิจารณ์โจมตีได้

เหมือนอย่างที่แมคเคนตอกโอบามาให้หน้าหงายเมื่อตอนดีเบทครั้งที่สามนั่นแหละว่าหากโอบามาต้องการผูกโยงเขาเข้ากับประธานาธิบดีบุชแล้ว หากเขาต้องการโจมตีบุชหรือ ideology ของบุชเขาควรลงสมัครประธานาธิบดีตั้งแต่ 4 ปีที่แล้วแข่งกับบุช(ซึ่งหากโอบามาลงสมัคร 4 ปีที่แล้วก็ไม่มีทางชนะบุชหรอก) แต่ก็แปลกใจว่าทำไมค่ายแมคเคนถึงเพิ่งมานึกออกทั้งที่ประโยค “I'm not George Bush, if you wanted to run against George Bush, you should have run for President Four Years Ago” ทั้งที่ชาวคอนเซอร์เวทีฟเน็ตเรานึกการโต้ตอบโอบามาแบบนี้ออกมานานแล้ว

แต่หากโอบามาชนะอีก 4 ปีข้างหน้าเขาก็จะต้องตกอยู่ในสถานการณ์แบบที่เขาวิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดีบุชในตอนนี้นั่นแหละเพราะได้บริหารประเทศไปแล้วจุดเด่น จุดด้อย และ Judgement ย่อมมีออกมาให้เห็นชัดเจน

6. แมคเคนสื่อสารเรื่องแผนการแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ไม่ชัดเจน ในเรื่องของการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจนั้นแผนเศรษฐกิจของโอบามาไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเลย เพราะผู้ที่เป็นมันสมองให้กับแผนเศรษฐกิจของเขาก็คือทีมเศรษฐกิจจากสมัยรัฐบาลคลินตันที่เน้น Big government เน้นมาตรการเพิ่มภาษี และเป็นพวกกีดกันทางการค้าตัวยง คือการปกป้องผลประโยชน์ตัวเองทางด้านภาษีและการค้า และต่อต้านการค้าเสรี (Freetrade)

รีพับลิกันอย่างแมคเคนที่มีจุดเด่นในเรื่องการลดภาษี(ทุกระดับชั้น) กลับไม่สามารถอธิบายจุดอ่อนของนโยบายเศรษฐกิจของโอบามาได้อย่างชัดเจนเท่าที่ควรจะเป็น แมคเคนควรเน้นให้ประชาชนอเมริกันเห็นว่านโยบายแผนลดภาษีให้กับคนชั้นกลางที่โอบามาบอกนั้น ในทางปฎิบัติมันเป็นไปได้จริงหรือไม่มากน้อยเพียงใดเพราะโครงการของโอบามาหลายอย่างต้องอาศัยเงินงบประมาณเป็นจำนวนเงินสูงถึงแสนล้านเหรียญฯ ดังนั้นเขาจะหาเงินมาจากไหนหากไม่ใช่การเพิ่มอัตราภาษีในที่สุด แต่จุดอ่อนของแมคเคนนั้นคือเขาสื่อสารเรื่องแผนการแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ไม่ชัดเจน ที่ผ่านมาเขายังไม่สามารถชี้ให้คนอเมริกันเห็นชัดถึง ข้อด้อยในนโยบายเศรษฐกิจของโอบามาได้เท่าที่ควรจะเป็น ซึ่งในสมัยจอร์จ บุชผู้พ่อนั้นที่เขาแพ้ให้กับบิล คลินตันก็เรื่องภาษีนี่แหละเพราะตอนหาเสียงไว้บอกว่าจะลดภาษีแต่บริหารไปได้สักระยะกลับเพิ่มภาษีซึ่งทำให้ฐานเสียงเสียงรีพับลิกันโกรธมากเพราะดูเหมือนว่าเขาไม่ได้ทำตามที่สัญญาไว้

เมือกล่าวถึงความเป็น Protectionist ของเดโมแครตนั้นจำได้ว่าเมื่อครั้งที่ประธานาธิบดีบุชมาเยือนไทยครั้งล่าสุดนี้ในสุนทรพจน์ของท่านความตอนหนึ่งกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า

“Unfortunately, our country sometimes sends mixed signals about the openness of our economy. Voices of economic isolationism do not represent the interests of the American people”

“โชคไม่ดีที่บางครั้งประเทศ(สหรัฐอเมริกา)ของเราก็ให้สัญญาณที่สับสนเกี่ยวกับการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจ ความต้องการในลัทธิโดดเดี่ยวทางเศรษฐกิจไม่ได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนแห่งผลประโยชน์ของชาวอเมริกัน"

ตรงนี้ประธานาธิบดีบุชท่านกล่าวถึงนโยบายกีดกันทางการค้าของพรรคเดโมแครตที่ผ่านมาเพราะผลการเลือกตั้งกลางเทอมเมื่อปี 2006 ที่ทำให้พรรคเดโมแครตได้เสียงข้างมากเหนือพรรครีพับลิกันในสภาบนและสภาล่างนั้นทำให้รัฐบาลบุชเผชิญภาวะลำบากที่ไม่อาจจะเดินหน้าเรื่อง FTA ได้คล่องแคล่วเหมือนเดิม

และสุนทรพจน์ท่อนนี้เป็นการส่งสัญญาณล่วงหน้าว่าหากรัฐบาลอเมริกันในอนาคตมาจากพรรคเดโมแครตการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจของสหรัฐก็จะลดน้อยลงเพราะ เพราะพรรคเดโมแครตหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ด้วยจุดยืนต่อต้านการค้าเสรีมาตลอด ทั้งในระดับทวิภาคี และระดับโลกเพราะปรัชญาการเมืองของเดโมแครตซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกเสรีนิยมนั้นแนวนโยบายทางการค้าคือ การปกป้องผลประโยชน์ตัวเองทางด้านภาษีและการค้าที่เรียกกันในภาษาการเมืองระหว่างประเทศว่า protectionist platforms นั่นเอง

หากแมคเคนตีเรื่อง spread the wealth around ของโอบามาซึ่งเป็นแนวความคิดพื้นฐานของพวกสังคมนิยมตั้งแต่ 2 เดือนที่ผ่านมานั้นแมคเคนจะไม่ดูเป็นรองมากขนาดนี้เพราะพื้นฐานประเทศและเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของประเทศอเมริกาไม่ใช่ การดำเนินนโยบาย spread the wealth around อย่างที่โอบามาพูดแต่เป็นการ Create new wealth อุดมการณ์ของพวกซ้ายและลัทธิเสรีนิยม(Liberalism) หรือ อุดมการณ์เสรีนิยมสมัยใหม่(Modern Liberalism) นี้ต้องการสังคมยูโธเปียหรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่า นักคิดสังคมนิยมเพ้อฝัน ที่ต้องการให้คนทุกคนเท่าเทียมกันหมดแต่ผู้ก่อตั้งประเทศอเมริกานี้ไม่ได้ต้องการอย่างนั้นพวกเขาต้องการให้สหรัฐอเมริกาดินแดนแห่งความหวังและโอกาสแห่งนี้เป็นสถานที่ที่ซึ่งทุกคนได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกันในการประสพความสำเร็จซึ่งเป็นแก่นของลัทธิอนุรักษ์นิยม(conservatism) หรือ อุดมการณ์เสรีนิยมคลาสสิค(Classical Liberalism)

ดังนั้นนโยบายภาษีของโอบามาที่ต้องการเอาเงินของคนที่ทำงานหนักมีรายได้มากกว่าไปให้กับผู้ที่มีรายได้น้อยกว่าหรือผู้ที่ไม่ทำงานและเสียภาษีมันก็คือนโยบายเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมนั่นเองซึ่งต่างกับนโยบายภาษีของรีพับลิกันที่ลดภาษีทุกระดับชั้นเพื่อเป็นการขยายฐานภาษีให้มีขนาดใหญ่ ส่งเสริมอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและก่อให้เกิดการจ้างงานมากกว่านโยบายภาษีของโอบามาแต่เดโมแครตตีความการลดภาษีภาคธุรกิจนี้ว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับคนรวยนั่นเองซึ่งเป็นการกล่าวเท็จที่สุดเพราะภายใต้นโยบายภาษีของแมคเคนนั้นจะก่อให้เกิดการจ้างงานถึง 2.13 ล้านตำแหน่งต่อปีขณะที่ภายใต้นโยบายภาษีของโอบามานั้นจะทำให้เกิดการสูญเสียงานกว่า 1 ล้านตำแหน่ง

นโยบายรีพับลิกันคือ Create new wealth และทุกคนได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกันในการประสพความสำเร็จอันเป็นเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้งประเทศแต่ไม่ใช่ spread the wealth around อันเป็นแนวคิดแบบสังคมนิยมซึ่งไม่ใช่พื้นฐานเศรษฐกิจของอเมริกา

7. แมคเคนต้องไม่สนับสนุนแผน Bailout ของประธานาธิบดีบุช เขาจึงจะได้รับความนิยมจากฐานเสียงอนุรักษ์นิยมเพิ่มมากขึ้นเพราะ Bailout Plan 700 พันล้านเหรียญสหรัฐนั้นมันขัดกับอดุมการณ์เรื่องกลไกตลาดเสรีของคอนเซอร์เวทีฟและสร้างความแตกต่างระหว่างเขาและโอบามาได้อย่างชัดเจน โอบามาจะยิ่งดูเป็น Socialist มากขึ้น แต่แมคเคนก็คือ แมคเคนเพราะเขาเชื่อว่าการสนับสนุน Bailout ก็คือ put country first นั่นเอง ขณะที่โอบามายังไม่ยอมแสดงท่าทีแต่รอดูสถานการณ์ก่อนซึ่งก็เป็นลักษณะเ)พาะตัวของโอบามาคือ "คลุมเคลือไว้ก่อนและสามารต่อรองได้ทุกนโยบาย" ดูแล้วเหมือนนายชวน หลีกภัยของไทยเล่นการเมืองยังไงยังงั้น

หากผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ออกมาคนอเมริกันส่วนใหญ่เลือกเดโมแครต ผู้เขียนก็คงต้องเคารพเสียงส่วนใหญ่ค่ะ คงไม่ไปกล่าวหาว่าคนที่เลือกเดโมแครตโง่หรือวุฒิทางปัญญาต่ำแม้ “คนอเมริกันผิวดำ” ส่วนใหญ่ที่เลือกโอบามาเพียงเพราะว่าเป็น “คนดำ” เหมือนกันเท่านั้นเอง

เหมือนอย่าง 4 ปีที่แล้วที่พวกสนับสนุนเดโมแครตที่ต่อต้านบุชชอบพูดดูถูกคนเลือกหรือสนับสนุนบุชว่าการศึกษาน้อย โง่ บ้านนอก เนี่ยล่ะค่ะผู้นิยมพรรคเดโมแครตที่เรียกพรรคตัวเองว่าเป็นตัวแทนของชนชั้นล่าง เป็นตัวแทนของอเมริกันชนชั้นกรรมาชีพ ชนชั้นกลางแต่จริงๆแล้วซ่อนความ hypocrite ไว้มากค่ะพวกเดโมแครตที่ต่อต้านบุชนี้(ไม่ใช่ชาวเดโมแครตทั้งหมด ต้องย้ำค่ะ) ชอบพูดเป็นทำนองว่าตัวเองฉลาดกว่า มีความรู้สูงกว่าคนที่เลือกพรรครีพลับลิกัน นี่เมื่อ 4 ปีที่แล้วโดนพลเมืองชนชั้นกึ่งรากหญ้าถึงชนชั้นกลางสั่งสอนน่วมไปหมดแล้ว

หรือบางคนอกหักมากบอกว่าหากเคอร์รี่แพ้จะย้ายไปอยู่แคนาดา แต่ตอนนี้คงย้ายไปไม่ได้แล้วล่ะเพราะพรรคอนุรักษ์นิยมแคนาดาชนะเลือกตั้งรั้งตำแหน่งนายกฯอีกสมัยไปครอง

สำหรับผู้เขียนแล้วคนที่ไม่เคารพการตัดสินใจของเสียงส่วนใหญ่นั้นไร้ซึ่งเกียรติสิ้นดี


0 ความคิดเห็น: