Spiga

บทบาทของหมาเฝ้าบ้าน


เนื่องในโอกาสเริ่มต้นปีใหม่ต้อนรับปีจอ หมาน้อยน่ารัก บ๊อก บ๊อก ผ่านไปได้หลายเพลา ... ในวันนี้ผู้เขียนจึงอยากจะขอเขียนถึงบทบาทของผู้ตรวจสอบอำนาจรัฐของสาธารณชนหรือใช้ภาษาชาวบ้านที่เราๆท่านๆเข้าใจง่ายๆก็คือ "หมาเฝ้าบ้าน (public watchdog)" หน่อยค่ะ

ในสังคมปัจจุบันเราคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าสื่อมวลชนนั้นมีบทบาทในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารให้กับสังคมมากเลยทีเดียว "สื่อมวลชน" จึงเปรียบเสมือนเป็นคนกลางที่มีความสำคัญมากในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ข้อเท็จจริงและเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคมให้ประชาชนผู้รับสารทราบ สื่อจึงเป็นทั้งผู้ปลุกความคิด ให้ความรู้ สร้างจิตสำนึกในสังคม บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของสื่อจึงควรมีมาตรฐานสูงพอในฐานะที่เป็นผู้ชี้นำทางความคิดของสังคม...

ที่ผ่านๆมาในอดีตเราจะเห็นได้ว่าสื่อมวลชนแทบทุกประเทศมักจะได้รับการยอมรับ ได้รับสิทธิและเสรีภาพในฐานะสื่อมวลชน การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชนนั้นเป็นเครื่องชี้ที่สำคัญประการหนึ่งของประเทศที่แสดงให้เห็นว่าประเทศนั้นปกครองด้วยระบอบเสรีประชาธิปไตยมากน้อยเพียงใด .... สื่อทำหน้าที่เป็นเสมือนยามเฝ้าบ้านให้กับประชาชนคอยตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในสังคมโดยเฉพาะการตีแผ่ "ความจริง (มิใช่ข่าวแต่ง)" ที่เป็นประโยชน์แก่สังคมและการที่สื่อมวลชนใช้เสรีภาพของตนอย่างมีความรับผิดชอบโดยไม่เป็นการสร้างความเดือดร้อนให้ใครก็เป็นการสะท้อนบรรยากาศเสรีภาพแห่งสังคมที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมด้วย ดังนั้นการควบคุมสื่อให้อยู่ใน "ขอบเขตและกรอบกติกาของสังคม" จึงมักจะได้รับเสียงตอบกลับว่า รัฐบาลในประเทศนั้นใช้อำนาจหน้าที่จำกัดสิทธิเสรีภาพที่สื่อพึงมี คุกคามสื่อ ริดรอนเสรีภาพของสื่อ หรือ ปิดปากสื่อและในหลายๆประเทศก็ไม่สามารถกระทำได้

ซึ่งในเรื่องเสรีภาพของสื่อนั้นตัวผู้เขียนเองมีความเห็นตรงนี้ค่ะว่า ... "เสรีภาพของสื่อ" คือการที่สื่อได้ทำหน้าที่ด้วย "สำนึกแห่งจริยธรรมและจรรยาบรรณ" เพื่อยังประโยชน์แก่มวลชนอย่างแท้จริงภายใต้กรอบกติกาของสังคมที่ว่า การแสดงออกซึ่งการรายงานข้อมูลข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์นั้นต้ิองตั้งอยู่บนพื้นฐานของความจริง เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน เป็นการรายงานข่าวและวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความเที่ยงธรรมและสุจริตใจ และต้องเพื่อเป็นการบอกเล่าให้รัฐบาล เจ้าหน้าที่ของรัฐ และบุคคลสาธารณะเหล่านั้นได้รับทราบถึงการปฏิบัติงาน และชี้แนะให้เห็นว่าการปฏิบัติงานของบุคคลเหล่านั้นเป็นไปตามที่ได้ให้คำมั่นที่ได้สัญญากับประชาชนไว้ก่อนหน้านั้นหรือไม่ หากไม่เป็นไปตามที่ได้รับปากไว้จะได้ปรับปรุงแก้ไขการปฏิบัติงานให้ดีขึ้นจึงจะได้ชื่อว่าสื่อทำหน้าที่ ผู้นำความคิดแก่ประชาชนได้อย่างถูกต้องหากว่าสื่อเคารพในจรรยาวิชาชีพและความรับผิดชอบของตนก็จะสามารถทำหน้าที่เป็นประโยชน์แก่สังคมได้

แต่กระนั้นก็ตามหากสื่อใช้เสรีภาพเป็นช่องทางในการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน หรือใช้เสรีภาพของสื่อเพื่อประโยชน์ทางการเมืองจนเกินเลยขอบเขตของการเคารพในสิทธิและเสรีภาพของปัจเจกบุคคลโดยการให้ร้ายทำลายคนและใช้สื่อที่มีอยู่ในมือปลุกปั่น หรือปลุกระดมมวลชนสร้างกระแสสังคมเพื่อประโยชน์ส่วนตนมิใช่เพื่อส่วนรวม เป็นวัตถุประสงค์เพื่อเงินทองหรือเป้าหมายทางการเมืองเป็นหลักโดยอาศัยความเป็น "ฐานันดร 4" หลายครั้งจึงสร้างความเสียหายและเป็นการทำลายผู้ " ไร้ผิด " ที่ตกเป็นข่าวได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ กรณีการทำบุญประเทศของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรหรือการที่นาย Dan Rather ใช้เอกสารปลอมเป็นเหตุทำให้ประธานาธิบดีบุชเสื่อมเสีย เป็นต้น ทั้งสองกรณีนี้เห็นได้ชัดเจนที่สุดว่าเป็นการป้ายสีของสื่อ

และจริงๆแล้วคำว่าเสรีภาพของสื่อที่หลายคนเรียกร้องถามหานั้นหากได้ลองพิจารณาตรึกตองถึงการกระทำและความจริง เฉกเช่นมนุษย์ปุถุชนคนธรรมดาอย่างถ่องแท้แล้วเสรีภาพอย่างแท้จริงร้อยเปอร์เซ็นต์นั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ อย่างที่เคยมีนักเขียนท่านหนึ่งได้ใหุ้มุมมองถึงเสรีภาพของสื่อไว้อย่างน่าฟังว่า: "เราน่าจะถามหา เสรีภาพตามสมควรของสื่อ(มิใช่เสรีภาพของสื่อ 100%) ในฐานะที่เป็นวิชาชีพที่มีความสำคัญสาขาหนึ่ง ที่มีส่วนช่วยจรรโลงสังคมให้น่าอยู่มากกว่า เพราะมันเป็นสิ่งที่พอจะสามารถแสวงหากรอบที่เห็นเป็นรูปธรรมได้ นั่นคือกรอบของกฎหมาย อันเป็นกติกาการอยู่ร่วมกันของสังคม ต้องเรียกร้องและกดดันให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ปฏิบัติหน้าที่ของตนให้อยู่ในกรอบของตนเอง อย่าล่วงล้ำสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ในขณะเดียวกันสื่อก็ต้องทำหน้าที่สื่ออย่างระมัดระวัง มิให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายด้วย หากทำได้ไปถึงจุดนั้น นั่นล่ะ "เสรีภาพของสื่อ" ที่มีจริงๆ แต่เป็นเสรีภาพตามสมควรแห่งวิชาชีพ "

ดังที่ Jean-Paul Charles Aymard Sartre นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสได้เคยกล่าวไว้ว่า:

"..เสรีภาพและความรับผิดชอบเป็นสิ่งที่ต้องเดินไปด้วยกัน
การแสดงออกของเสรีภาพที่ไม่มีความรับผิดชอบติดตามมาเป็นสิ่งที่ไม่มีค่าอะไรเลย.."


การออกข่าวกรณีการทำบุญประเทศที่วัดพระแก้วของท่านนายกรัฐมนตรีทักษิณนั้นเป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึง "การนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อที่ขาดสำนึกในจริยธธรรม จรรยาบรรณ และความรับผิดชอบ" ได้ชัดเจนที่สุด ในขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นถึงมาตรฐานและสำนึกในจริยธรรมในการทำหน้าที่ของสื่อของแต่ละสำนักนี่ก็ต่างกันด้วยค่ะหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ถือว่าทำหน้าที่นำเสนอข้อเท็จจริงให้กับผู้เสพข่าวสารได้ทราบในข้อสงสัยด้วยการตรวจสอบไปยังกองงานราชพิธี สำนักพระราชวังในขณะที่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการกลับมีการวิพากษ์วิจารรณ์จินตนาการไปไกลต่างๆนาๆโดยไม่มีการตรวจสอบข่าวนี้ไปยังสำนักพระราชวังก่อนตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ซึ่งหากต้องการตรวจสอบจริงๆก็ไม่ยากเลยค่ะเพราะแค่หมุนโทรศัพท์ไปยังกองงานราชพิธี สำนักพระราชวังแป๊ปเดียวอย่างที่หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ทำก็จะได้รับคำตอบอยู่แล้ว ในเรื่องพิธีทำบุญประเทศนี้มีคำอธิบายที่ชัดเจนถึงความถูกต้องและเหมาะควรมากทีเดียว ส่วนคนที่พยายามสร้างความเข้าใจผิดสร้างความคลุมเครือให้กับเนื้อข่าวกลับมีคำอธิบายที่พลิกไปพลิกมาไม่น่าเชื่อถือ

ก็เป็นเรื่องธรรมดาค่ะที่การสร้างข่าวลือนั้นจะต้องอาศัย "ความคลุมเครือ" ของข่าวไว้ก่อนเพราะหากข่าวหมดความคลุมเครือแล้วก็คงหมดประโยชน์ที่จะนำมาสร้างกระแสสังคมต่อไป... ด้วยเหตุนี้สื่อมวลชนฐานันดรี่สี่ที่มี "เสรีภาพ" หากแต่ "ขาดจรรยาบรรณ" เสียแล้ว (ไม่รวมสื่อสารมวลชนที่ดีๆนะคะ) ก็สามารถกลายเป็นฆาตกรในสังคมได้ง่ายๆเหมือนกันนะคะ ดังที่เคยมีคนเปรียบเปรยไว้ว่า:

"หนังสือพิมพ์ที่มุ่งร้ายหมายขวัญเพียง ๔ ฉบับ เป็นที่น่าเกรงขามยิ่งกว่าหอกปลายปืน ๑,๐๐๐ เล่ม"