การดีเบทครั้งที่สามซึ่งเป็นการดีเบทครั้งสุดท้ายของคู่ชิงประธานาธิบดีระหว่างจอห์น แมคเคนจากพรรครีพับลิกันและบารัค โอบามา จากพรรคเดโมแครตเมื่อคืนวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมาเรียกว่าเป็นการดีเบทที่มีสีสันและดูสนุกที่สุดเมื่อเทียบกับสองครั้งแรกค่ะเพราะ โจ ช่างประปา(Joe the Plumber) คือ ไฮไลท์ของการดีเบทครั้งนี้เพราะเขาเป็นผู้ที่เปิดประเด็นถึงนโยบายภาษีของโอบามาว่าในทางปฎิบัติแล้วคนชั้นกลางโดยรวมได้รับประโยชน์จริงอย่างที่เขาหาเสียงไว้หรือไม่
โจ ช่างประปามีชื่อจริงว่า โจ เวอร์สเอลเบอเกอร์(Joe Wurzelbacher) เขาต้องการซื้อกิจการขนาดเล็กๆซึ่งเขาทำงานอยู่และอยากจะขยายกิจการเพื่อที่ว่าเขาสามารถที่จะจ้างคนงานเพิ่มขึ้นหรือพูดอีกนัยหนึ่งในทางการเมืองคือ “สร้างงานให้กับชาวอเมริกันเพิ่มขึ้น” นั่นเอง
ไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาโจ ช่างประปาได้เผชิญหน้าตัวต่อตัวกับโอบามาที่โอไฮโอเมื่อตอนที่โอบามาไปหาเสียงที่นั่น เขาบอกกับโอบามาว่าภายใต้แผนภาษีของโอบามาทำให้เขาต้องเสียภาษีมากขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นมันจึงเป็นการยากสำหรับเขาในการขยายกิจการ
โจ ช่างประปาช่วยเปลี่ยนโฉมการโต้วาทีครั้งนี้เป็นประเด็นเรื่อง “ภาษี” ที่ทำให้หลายคนต้องจับตามองและเจาะลึกอย่างละเอียดและเป็นการตอกย้ำถึงแนวความคิดทางการเมืองและเศรษฐกิจของโอบามาว่าเขามีความเชื่อออกไปในทาง"สังคมนิยม"เมื่อเขาตอบคำถามโจ ช่างประปาว่าเขาต้องการ "spreading the wealth around would help everyone" คือกระจายความมั่งคั่งออกไปเพื่อช่วยทุกคน นี่เป็นคอนเซ็ปท์พื้นฐานของระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม
ตรงนี้คือความแตกต่างอย่างใหญ่หลวงระหว่าง "เดโมแครต" ที่เชื่อว่าความร่ำรวยที่ถูกสร้างขึ้นโดยปัจเจกบุคคล(ที่ทำงานหนัก)จำเป็นต้องถูกจัดสรรออกไปให้กับคนในสังคมอย่างทั่วถึงกัน แม้กระทั่งตรงนี้มันหมายความว่าเป็นการจำกัดโอกาสในการ "สร้างเศรษฐีใหม่หรือความมั่งคั่งขึ้นใหม่" ในสังคมก็ตาม และ "รีพับลิกัน" ที่เชื่ออย่างแรงกล้าว่ามันจะเป็นสิ่งที่ดีกว่าหากปล่อยให้ธุรกิจขนาดเล็กได้เก็บเงินส่วนนี้ไว้(ไม่ต้องจ่ายภาษีเพิ่มให้กับรัฐ)ในการขยายกิจการให้เติบโตต่อไปและว่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น
มาตราการการจัดเก็บภาษีของโอบามานี้ธุรกิจขนาดเล็กจะได้รับผลกระทบมากและธุรกิจขนาดเล็กคือหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอเมริกาที่ครองสัดส่วนถึง 60% และก่อให้เกิดจ้างงานเกือบ 100 %
ดังนั้นนโยบายจัดเก็บภาษีของโอบามาที่ต้องการนำเงินของคนที่ทำงานหนักมีรายได้มากกว่าไปให้กับผู้ที่มีรายได้น้อยกว่าหรือผู้ที่ไม่เสียภาษีมันก็คือนโยบายเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมนั่นเองซึ่งต่างกับนโยบายภาษีของรีพับลิกันที่ลดภาษีทุกระดับชั้นเป็นการขยายฐานภาษีให้มีขนาดใหญ่ ส่งเสริมอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ(Pro-Growth, )และการจ้างงานมากกว่านโยบายภาษีของโอบามา
ภายใต้นโยบายภาษีของแมคเคนนั้นจะก่อให้เกิดการจ้างงานถึง 2.13 ล้านตำแหน่งต่อปีขณะที่ภายใต้นโยบายภาษีของโอบามานั้นจะทำให้เกิดการสูญเสียงานกว่า 1 ล้านตำแหน่ง เพราะนโยบายรีพับลิกันคือการสร้างเศรษฐีใหม่หรือความมั่งคั้งขึ้นใหม่(Creating new wealth) ในสังคมและให้ทุกคนได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกันในการประสพความสำเร็จอันเป็นเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้งประเทศแต่ไม่ใช่ spread the wealth around อันเป็นแนวคิดแบบสังคมนิยมซึ่งไม่ใช่พื้นฐานเศรษฐกิจของอเมริกา
ด้วยเหตุนี้ จึงต้องมีการเปรียบเทียบแผนภาษีของผู้สมัครทั้งสองว่าเป็นอย่างไร?
นโยบายด้านภาษีของผู้สมัครคนใดที่ดีต่อเศรษฐกิจและก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นมากกว่ากัน?
เรย์ เฮเดอร์แมน นักวิเคราะห์นโยบายอาวุโสและผู้ช่วยผู้อำนวยการ ณ ศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลของสถาบัน Heritage ได้อธิบายถึงความแตกต่างระหว่างแผนภาษีของแมคเคนและโอบามา เฮเดอร์แมนได้เขียนบทความวิเคราะห์แผนภาษีที่ถูกนำเสนอโดยผู้สมัครทั้งสองคนเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา
ผู้อ่านท่านใดสนใจอยากทราบรายละเอียดของนโยบายทางด้านภาษีของผู้สมัครทั้งสองคนหรืออยากทราบไว้เพื่อประดับความรู้ สามารถรับชมได้จากวีดีโอ คลิปข้างล่างนี้
หากต้องการอ่านการวิเคราะห์แผนภาษีของผู้สมัครทั้งสองโดยละเอียด บทความ
The Obama and McCain Tax Plans: How Do They Compare? จะตอบข้อสงสัยและให้ความรู้เกี่ยวกับนโยบายภาษีของผู้สมัครทั้งสองคนได้ชัดเจนที่สุดบทความหนึ่งเท่าที่ผู้เขียนเคยอ่านมา