Spiga

ถนนสู่ทำเนียบขาว 2008: ชัยชนะที่งดงามของฮิลลารีที่เพนซิลเวเนียบ่งบอกอะไรบ้าง?

ก็เป็นว่าในที่สุดฮิลลารี รอดแฮม คลินตันสามารถคว้าชัยเหนือบารัค โอบามา วุฒิสมาชิกหนุ่มจากรัฐอิลลินอยส์ในการหยั่งเสียงไพรมารี ที่รัฐเพนซิลวาเนียได้เป็นผลสำเร็จด้วยคะแนนเสียง 55 % ต่อ 45 % ตัวเลขนี้ถือเป็นชัยชัยชนะที่สวยสดงดงามของเธอ ที่บอกว่าสวยสดงดงามเพราะเธอสามารถเอาชนะโอบามาแบบทิ้งห่างด้วยคะแนนเป็นตัวเลขสองหลัก คือ 10 % ซึ่งมีนัยยะสำคัญทั้งในด้านคะแนน popular vote เป็นการลดแรงกดดันจากเสียงเรียกร้องให้เธอถอนตัวออกจากการแข่งขันและเป็นการสร้างแรงกดดันไปยังคณะตัวแทนระดับสูงของพรรค (superdelegates) ที่มีโอกาสสูงว่าจะเป็นผู้ชี้ขาดในการประชุมใหญ่ของพรรคที่เดนเวอร์ว่าเธอหรือโอบามา ใครจะถูกส่งไปเป็นตัวแทนพรรคเข้าชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐในปลายปีนี้

ชัยชนะครั้งนี้ของฮิลลารีทำให้เธอได้เดลิเกตส์ไป 81 แต้มส่วนโอบามาได้ไป 72 แต้มรวมคะแนนเดลิเกตส์ล่าสุดในตอนนี้ทั้งโอบามาและฮิลลารีเก็บคะแนนเดลิเกตส์ไปแล้ว 1719 และ 1586 คะแนนตามลำดับโดยโอบามายังนำฮิลลารีอยู่ 133 แต้ม

แล้วผลการหยั่งเสียงขั้นต้นแบบไพรมารีที่เพนซิลเวเนียบ่งบอกอะไรบ้าง?

ประการแรก ผลการหยั่งเสียงที่ออกมาในครั้งนี้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่าเรื่องประชากรศาสตร์ (demographics) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอายุ เพศ สีผิว ศาสนา อาชีพ ระดับการศึกษายังเล่นเป็นบทเด่นสำหรับการแข่งขันของพรรคเดโมแครต ทั้งๆที่ค่ายของโอบามาทุ่มทุนหมดเงินไปเยอะกับการรณรงค์หาเสียงครั้งนี้ที่เพนซิลเวเนีย เขาใช้เงินมากกว่าฮิลลารี่คิดเป็นสัดส่วนถึง 3 ต่อ 1 ผลการเลือกตั้งที่ออกมาหากมองในแง่ของประชากรศาสตร์ ลักษณะการลงคะแนนเสียงของผู้ลงคะแนนเสียงในเพนซิลเวเนียไม่แตกต่างจากพฤติกรรมการลงคะแนนเสียงในโอไฮโอ นั่นคือ

ในด้านอายุนั้นคนที่อายุ 65 ปีหรือมากกว่ามีถึงร้อยละ 60 ที่เลือกฮิลลารี เหมือนไพรมารีที่โอไฮโอก่อนหน้านี้ที่ผู้สูงอายุกว่า 75 เปอเซ็นต์เทคะแนนเสียงให้กับฮิลลารี

ในด้านเพศและสีผิว ฮิลลารี่ได้เสียงจากสตรีผิวขาวมากถึง 65 % ผู้ชายผิวขาว 55 % ส่วนโอบามายังคงได้รับคะแนนเสียงจากอาฟริกัน-อเมริกันไปอย่างท่วมท้นเช่นเคยเหมือนกับทุกรัฐที่ผ่านมาที่เขาได้คะแนนจากอเมริกันผิวดำมากกว่า 70 % เทียบกับคนผิวขาวที่เลือกฮิลลารี่แล้วคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อยกว่าอเมริกันผิวดำเลือกโอบามามาก

ผู้เขียนจึงไม่เคยเห็นด้วยกับคำพูดที่ว่า “คนอเมริกันยังไงก็ไม่ยอมรับประธานาธิบดีผิวดำเพราะอเมริกายังเหยียดผิวอยู่” แน่นอนว่าการเหยียดผิวในอเมริกานั้นยังมีอยู่จริงแต่ก็น้อยลงไปมากอย่างเทียบไม่ได้ในอดีต และในปัจจุบันคนผิวดำก็มีสิทธิมีเสียงหรืออาจมีสิทธิพิเศษมากกว่าคนผิวขาวในบางเรื่องเสียด้วยซ้ำ การเหยียดผิว(racial discrimination)ในอเมริกาถือเป็นเรื่องผิดกฏหมาย หากอเมริกันยังนิยมการเหยียดผิวอยู่เราคงไม่ได้เห็น กฏหมายที่ห้ามการเหยียดผิวออกมา เราคงไม่ได้เห็น African-Americans ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรี ผู้ว่าการรัฐทั้งในรัฐทางเหนือและทางใต้ หรือในระดับชาติอย่างผู้พิพากษาศาลฏีกา สมาชิกชิกสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสมาชิกและในคณะรัฐมนตรี

และทีสำคัญเราคงไม่ได้เห็นโอบามามาถึงจุดนี้หากไม่ได้รับคะแนนเสียงจากคนผิวขาวด้วยโดยเฉพาะกลุ่มคนผิวขาวการศึกษาสูงที่เป็นฐานเสียงอันเหนียวแน่นของโอบามา

ในทางตรงกันข้ามคำพูดที่ไม่ระมัดระวังของโอบามาที่ออกมาในเชิงดูหมิ่นคนถ้องถิ่น(ประกอบด้วยคนผิวขาวเป็นส่วนใหญ่) ระหว่างปราศรัยหาเสียงว่า

residents of small towns in Pennsylvania and elsewhere are bitter because of job
losses, and so have turned to traditions like guns, religion and anti-immigrant
sentiment.

ผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองเล็กๆในเพนซิลเวเนียและที่อื่นๆกำลังแสดงออกอย่างเคียดแค้นขมขื่นเพราะตกงานเลยต้องหันไปพึ่งพาวัฒนธรรมแบบเดิมๆอย่างปืนและศาสนาและแสดงการต่อต้านผู้อพยพเข้าเมือง


ซึ่งคำพูดนี้ทำให้คนผิวขาวท้องถิ่นคนหนึ่งเปรยความรู้สึกออกมาว่าโอบามากำลังบอกพวกเขาว่า ประชาชนอ่อนแอ โง่และซื่อและต้องใช้หนทางศาสนาเพื่อเป็นแนวทางในการผ่านอุปสรรค คำพูดของโอบามาไม่ได้ช่วยตัวเขาเองเลย ซึ่งก็จริงตามคำพูดของเขาเพราะฮิลลารี่ได้คะแนนเสียงจากคนที่เป็นคาทอลิคกว่า 75 %

ส่วนในกลุ่มผู้มีการศึกษาระดับวิทยาลัย-มหาวิทยาลัยนั้น โอบามาทำได้ดีกว่าคลินตันเพียงเพียงเล็กน้อย ซึ่งโอบาบาต้องการคะแนนเสียงในคนกลุ่มนี้มากหากเขาต้องการเอาชนะความได้เปรียบของคลินตันเพราะฐานเสียงสำคัญของโอบามานอกจากอาฟริกัน-อเมริกันแล้วก็คือกลุ่มคนผิวขาวการศึกษาสูงนั่นเองที่ทำให้เขาได้รับชัยชนะในการหยั่งเสียงไพรมารี่ที่ผ่านมา

ฮิลลารีเอาชนะโอบามาได้ในครั้งนี้เพราะเธอมีฐานเสียงที่เหนียวแน่นในกลุ่มผู้หญิงผิวขาว กลุ่ม working-class voters และกลุ่มผู้ชายผิวขาวนั่นเอง

จะว่าไปแล้วโอบามาเองไม่ใช่คนผิวดำร้อยเปอร์เซ็นต์เสียทีเดียวเพราะแม่ของเขาก็เป็นคนผิวขาว โอบามาคือลูกครึ่งระหว่างคนขาวกับคนดำและที่สำคัญการที่เขามาถึงจุดนี้ได้ต้องบอกว่าเพราะแม่และตากับยายที่เป็นคนผิวขาวนั่นเองที่ฟูมฟักเลี้ยงดูเขามาเป็นอย่างดี ส่งเสริมด้านการศึกษา ตั้งแต่เด็กก็ได้เข้าเรียนในโรงเรียนที่แพงที่สุดในฮาวายจนเรียนถึงระดับมหาวิทยาลัย

ประการที่สอง เป็นชัยชนะด้านจิตวิทยาที่ยิ่งใหญ่ของฮิลลารี เพราะชัยชนะอย่างงดงามเท่านั้นที่จะสร้างพลังกระตุ้นอย่างแรงไปยังการหยั่งเสียงขั้นต้นครั้งต่อไปที่จะจัดขึ้นพร้อมกันที่อินเดียนา และนอร์ธ โคโรไลนาในวันที่ 6 พฤษภาคมที่จะถึงนี้

แต่ถึงแม้ว่าเธอจะสามารถกวาดชัยชนะในสนามนี้ได้ก็ไม่ได้ส่งผลทำให้เธอพลิกกลับมาได้เปรียบโอบามาในเรื่องของจำนวนเดลิเกตส์แต่อย่างใด เพราะระบบคิดคะแนนของพรรคเดโมแครตเป็นระบบสัดส่วน จำนวนคณะผู้เลือกตั้งจะถูกจัดสรรตามสัดส่วนคะแนนที่ผู้สมัครแต่ละคนได้มา

ประการที่สาม ชัยชนะที่งดงามของเธอที่เพนซิลวาเนียจะยังคงได้รับการพูดถึงตามสื่อและหน้าหนังสือพิมพ์ไปตลอดทั้งสัปดาห์ นานเพียงพอจนถึงการหยั่งเสียงขั้นต้นที่อินเดียน่า ซึ่งตอนนี้เธอก็ได้รับการคาดหมายว่ามีโอกาสชนะที่อินเดียน่าด้วย แต่การได้แต้มเดลิเกตส์เพิ่มขึ้นมาเพียงเล็กน้อยคงไม่สร้างความแตกต่างอะไรมากนัก เพราะโอบามาก็ได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นฝ่ายคว้าชัยที่นอร์ธ แคโรไลนาซึ่งเป็นสนามการแข่งขันที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาสนามแข่งขันที่เหลือทั้งหมด 9 สนาม

ประการที่สี่ ชัยชนะที่เพนซิลเวเนียในครั้งนี้ทำให้ฮิลลารีซึงเป็นรองโอบามาอยู่ในส่วนของคะแนน popular vote ตีตื้นคะแนนขึ้นมาอีกระดับหนึ่งโดยในตอนนี้ฮิลลารียังมีคะแนน popular vote ตามโอบามาอยู่ 500,000 คะแนน แต่ที่จะส่งผลในด้านจิตวิทยาสร้างแรงกดดันไปยังคณะตัวแทนระดับสูงของพรรค (superdelegates) ให้วางตัวเป็นกลางไปก่อนขณะที่การแข่งขันยังไม่จบโดยขณะนี้จากการรายงานของแอสโซซิเอท เพรส ฮิลลารีมีคะแนน superdelegates นำโอบามาอยู่ 259 ต่อ 235 แต้ม โดยยังมีจำนวน superdelegates ถึง 301 เสียงที่ยังไม่ได้รับรองผู้สมัครคนใด

ซึ่ง democratic party insiders หรือ superdelegates นี้มีโอกาสสูงว่าจะเป็นผู้มีบทบาทในการชี้ขาดในการประชุมใหญ่ของพรรคที่เดนเวอร์ว่าใครคือผู้สมัครของพรรคในการเข้าชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐในปลายปีนี้ เนื่องจากทั้งคลินตันและโอบามา ต่างก็ไม่มีใครที่จะได้คะแนนในส่วนของคณะตัวแทนเลือกตั้ง (delegates) ได้ถึง 2,025 คะแนน ซึ่งเป็นคะแนนชี้ขาดสำหรับผู้ชนะการหยั่งเสียงเลือกตั้งขั้นต้น


FTA สหรัฐ-โคลัมเบียลุ้นเข้าเส้นชัย "บุช" รอคองเกรสพิจารณา 90 วัน

ภายในเวลา 90 วันนับตั้งแต่วันที่ทำเนียบขาวส่งมอบข้อตกลงเปิดเสรีทางการค้า หรือเอฟทีเอ สหรัฐ-โคลัมเบีย สู่การพิจารณาของสภาคองเกรสว่าเห็นชอบหรือไม่ สำหรับให้ฝ่ายบริหารไปลงสัตยาบันยอมรับข้อผูกพันกับคู่เจรจา

นับเป็นเวลาช่วงระทึกขวัญสำหรับทำเนียบขาวและ ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ที่ต้องการสร้างสัมพันธ์ทางการเมืองผ่านความร่วมมือทางการค้ากับประเทศที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาในแถบตอนใต้ หรือที่เรียกกันว่าหลังบ้านของสหรัฐ เนื่องจากจุดยืนของฝ่ายข้างมากในคองเกรสกลับมาอยู่ในกลุ่มของสมาชิกพรรคเดโมแครต ซึ่งรู้กันดีว่าคัดค้านการค้าเสรีที่เปิดตลาดให้กับชาวต่างชาติอย่างชัดเจน

เหตุผลที่เดโมแครตมักนำมาอ้างถึงเพื่อสนับสนุนความคิดเห็นในเรื่องนี้ คือ เรื่องการแย่งงานชาวอเมริกันจาก คนต่างชาติ เช่น ในกรณีนาฟต้า หรือ เขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ ที่ทำกับแคนาดาและเม็กซิโก ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งย้ายฐานการผลิต ไปในเม็กซิโกที่มีค่าจ้างแรงงานต่ำกว่า ส่งผลให้คนงานในโรงงานที่เป็นชาวอเมริกันหลายแสนคนตกงาน ส่วนอีกเหตุผลหนึ่งคือปัญหาที่ถ่างกว้างของช่องว่างรายได้ระหว่างคนรวยกับคนจน ที่ได้รับประโยชน์จากการเปิดเสรีทางการค้าที่ไม่เท่าเทียมกัน

แต่อย่างไรก็ตามข้อตกลงการค้าฉบับนี้เป็นอีกหนึ่งความพยายามของรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีบุชที่ต้องการ ผลักดันยุทธศาสตร์การเปิดตลาดเสรีแบบทวิภาคี เพื่อสร้างประโยชน์ทางการค้าให้กับสหรัฐอเมริกาและประเทศคู่ค้า

ภายใต้ข้อตกลงกับโคลัมเบีย สิ่งที่มิตรประเทศของสหรัฐต้องดำเนินการ ตามข้อตกลง คือ การเปิดตลาดสินค้าเกษตร อุตสาหกรรม และบริการให้กับบริษัทสหรัฐ ขณะที่สหรัฐแลกเปลี่ยนด้วยการตัดลดภาษีให้กับสินค้าสิ่งทอ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ดอกไม้ และสินค้าอื่นๆ

โดยรายงานข่าวจากเดอะ วอลล์สตรีต เจอร์นัล ตั้งข้อสังเกตว่า ภายใต้การทำข้อตกลงเปิดเสรีทางการค้ากับสหรัฐเกือบทุกฉบับ ประเทศที่มีขนาดเล็กกว่าย่อมต้องยอมรับเงื่อนไขที่มากกว่าในเรื่องการตัดลดภาษี แต่ขณะเดียวกันประเทศเหล่านี้ก็จะมีความหวังจากการทำข้อตกลงด้วยการได้รับเงินลงทุนจากต่างชาติที่เพิ่มมากขึ้นเป็น การตอบแทน

เช่น กรณีของโคลัมเบีย ซึ่งมีมูลค่า การค้าร่วมกับสหรัฐเมื่อปี 2550 เพียง 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งนับว่าน้อยกว่า 1% ของการค้าของสหรัฐทั้งหมด และที่ผ่านมาสินค้าสหรัฐกับโคลัมเบียค้าขายกันมากที่สุด คือ สหรัฐส่งออกข้าวสาลี ข้าวโพด และสินค้าอุตสาหกรรมต่างๆ ขณะที่โคลัมเบียส่งออกสินค้าเกษตร อาทิ ผลไม้ กาแฟ รวมถึงถ่านหิน สิ่งทอ และอื่นๆ ไปยังสหรัฐ

นอกจากนี้การลงนามและผลการพิจารณาจากคองเกรสในกรณีเอฟทีเอสหรัฐ-โคลัมเบีย ยังเป็นที่สนใจของคู่เจรจาเอฟทีเอรายอื่นๆ ของสหรัฐด้วย ยิ่งในเอเชียทั้งเกาหลีใต้และญี่ปุ่นต่างติดตาม การเคลื่อนไหวของคองเกรสอย่างใกล้ชิด

เนื่องจากในกรณีเกาหลีใต้ ได้เจรจาและลงนามรับข้อตกลงเอฟทีเอเกาหลีใต้-สหรัฐเรียบร้อยแล้ว แต่ยังต้องรอการพิจารณาจากคองเกรสเพื่อให้รัฐบาลให้สัตยาบันข้อตกลงจึงจะมีผลบังคับใช้ได้ ดังนั้น ความคืบหน้าของเอฟทีเอสหรัฐ-โคลัมเบียจึงเป็นตัวบ่งชี้ถึงทิศทางของคองเกรสในกรณีเอฟทีเอเกาหลีใต้-สหรัฐด้วย

ด้านญี่ปุ่น เหตุผลของการติดตามความเคลื่อนไหวครั้งนี้ เนื่องจากญี่ปุ่นมีความหวั่นเกรงถึงการเสียเปรียบในการแข่งขันอยู่มาก หากเอฟทีเอเกาหลีใต้-สหรัฐมีผลบังคับใช้

อย่างไรก็ตามในสหรัฐเอง ข้อถกเถียงเรื่องการเปิดตลาดเสรีนั้นยังอยู่ในแคมเปญหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐและชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคเดโมแครต นับ ตั้งแต่ นายบารัก โอบามา และ นางฮิลลารี คลินตัน ประกาศจะยกเลิกข้อตกลงใน นาฟต้า หากประเทศคู่ค้าซึ่งได้แก่แคนาดาและเม็กซิโกไม่ยอมกลับมาทบทวนข้อตกลงนาฟต้า ในระหว่างที่บุคคลทั้งสองชิงเสียงสนับสนุนจากสมาชิกพรรคในการหยั่งเสียงเลือกตั้งที่รัฐไอโอวา เมื่อ ม.ค.ที่ผ่านมา

หรือในกรณี นายจอห์น แมคเคน ตัวแทนพรรครีพับลิกัน เพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 44 เสนอให้ เจรจาทำข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพยุโรป ในระหว่างการหาเสียงเมื่อเดือนที่แล้วด้วย

แมคเคนกล่าวว่า การทำข้อตกลงเปิดเสรีทางการค้าระหว่างสหรัฐและสหภาพยุโรปย่อมเป็นเรื่องดีที่น่าจะเกิดขึ้น และ น่าจะเป็นกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ทั้งนี้ปัจจุบันสหรัฐและสหภาพยุโรปต่างเก็บภาษีสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมจากสองฝ่ายที่ต่ำอยู่แล้ว และทั้งสองฝ่ายยังได้มีความประสงค์ริเริ่มขจัดกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการทำการค้าร่วมกันด้วย

อย่างไรก็ตามความพยายามจะนำพาเศรษฐกิจของประเทศเดินผ่านไปด้วยการเปิดตลาดและลดอุปสรรคทางภาษี ในขณะที่การเจรจาการค้ารอบโดฮาในองค์การการค้าโลกยังไม่มีข้อสรุปในเร็ววัน การเดินหน้าทำข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคี (เอฟทีเอ) จึงเป็นสิ่งที่อาจหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สำหรับประเทศเล็กอาจต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้อื่นเพื่อประกอบการตัดสินใจต่อไป

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ


"แบร์ลูสโคนี"กลับเข้ารับตำแหน่งนายกฯเป็นครั้งที่สาม

มหาเศรษฐีเจ้าพ่อสื่อผงาดกลับเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่สาม หลังชนะการเลือกตั้ง


(15ตปท.) ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี่ อดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย และมหาเศรษฐีเจ้าพ่อสื่อสารมวลชนผู้ยึดนโยบายอนุรักษ์นิยม วัย 71 ปี ประกาศชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปที่จัดขึ้นสองวันจนถึงเมื่อวานนี้ หลังคู่แข่งคนสำคัญ-อดีตนายกรัฐเทศมนตรีกรุงโรมหัวกลางซ้าย วอลเตอร์ เวลโตรนี่ ประกาศยอมรับความพ่ายแพ้ พร้อมประกาศยินดีทำงานร่วมกับพรรคฝ่ายค้านเพื่อเดินหน้านโยบายปฏิรูป ทั้งยังได้บอกกับตัวเองว่า หลังเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เขาจะไม่เข้านอนหากยังไม่ได้สร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้กับประเทศชาติและประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว

ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ พบว่า พรรคของแบร์ลูสโคนีได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนเหนือพรรคคู่แข่ง ได้ครองที่นั่งข้างมากทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา โดยในส่วนของสภาผู้แทนราษฎร พรรคของแบร์ลูสโคนีชนะไป 46.5 ต่อ 37.8% ส่วนการเลือกตั้งวุฒิสภา ชนะไป 47.2 ต่อ 38.1%

การเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้จัดขึ้นเร็วกว่ากำหนดถึง 3 ปี จากการล่มสลายก่อนถึงเวลาอันควรของรัฐบาลปีกซ้ายของนายโรมาโน่ โพรดิ หลังบริหารประเทศไม่ถึง 2 ปี และชัยชนะครั้งนี้จะทำให้แบร์ลูสโคนีได้กลับเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่สาม หลังก้าวเข้าสู่เส้นทางการเมืองเมื่อ 14 ปีก่อน

รัฐบาลชุดใหม่จะต้องเผชิญกับปัญหามากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเศรษฐกิจรวมถึงอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ คาดการณ์ว่าอัตราเติบโตเศรษฐกิจของอิตาลี ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 7 ของโลกในปีนี้ จะอยู่ที่ 0.3% เทียบกับ 1.4%ของ 15 ประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโร นอกจากนี้อิตาลียังมีปัญหาเงินเฟ้อ,งบประมาณขาดดุล รวมถึงการถดถอยของความสามารถในการแข่งขันและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

ที่มา: คม ชัด ลึก