Spiga

FTA สหรัฐ-โคลัมเบียลุ้นเข้าเส้นชัย "บุช" รอคองเกรสพิจารณา 90 วัน

ภายในเวลา 90 วันนับตั้งแต่วันที่ทำเนียบขาวส่งมอบข้อตกลงเปิดเสรีทางการค้า หรือเอฟทีเอ สหรัฐ-โคลัมเบีย สู่การพิจารณาของสภาคองเกรสว่าเห็นชอบหรือไม่ สำหรับให้ฝ่ายบริหารไปลงสัตยาบันยอมรับข้อผูกพันกับคู่เจรจา

นับเป็นเวลาช่วงระทึกขวัญสำหรับทำเนียบขาวและ ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ที่ต้องการสร้างสัมพันธ์ทางการเมืองผ่านความร่วมมือทางการค้ากับประเทศที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาในแถบตอนใต้ หรือที่เรียกกันว่าหลังบ้านของสหรัฐ เนื่องจากจุดยืนของฝ่ายข้างมากในคองเกรสกลับมาอยู่ในกลุ่มของสมาชิกพรรคเดโมแครต ซึ่งรู้กันดีว่าคัดค้านการค้าเสรีที่เปิดตลาดให้กับชาวต่างชาติอย่างชัดเจน

เหตุผลที่เดโมแครตมักนำมาอ้างถึงเพื่อสนับสนุนความคิดเห็นในเรื่องนี้ คือ เรื่องการแย่งงานชาวอเมริกันจาก คนต่างชาติ เช่น ในกรณีนาฟต้า หรือ เขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ ที่ทำกับแคนาดาและเม็กซิโก ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งย้ายฐานการผลิต ไปในเม็กซิโกที่มีค่าจ้างแรงงานต่ำกว่า ส่งผลให้คนงานในโรงงานที่เป็นชาวอเมริกันหลายแสนคนตกงาน ส่วนอีกเหตุผลหนึ่งคือปัญหาที่ถ่างกว้างของช่องว่างรายได้ระหว่างคนรวยกับคนจน ที่ได้รับประโยชน์จากการเปิดเสรีทางการค้าที่ไม่เท่าเทียมกัน

แต่อย่างไรก็ตามข้อตกลงการค้าฉบับนี้เป็นอีกหนึ่งความพยายามของรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีบุชที่ต้องการ ผลักดันยุทธศาสตร์การเปิดตลาดเสรีแบบทวิภาคี เพื่อสร้างประโยชน์ทางการค้าให้กับสหรัฐอเมริกาและประเทศคู่ค้า

ภายใต้ข้อตกลงกับโคลัมเบีย สิ่งที่มิตรประเทศของสหรัฐต้องดำเนินการ ตามข้อตกลง คือ การเปิดตลาดสินค้าเกษตร อุตสาหกรรม และบริการให้กับบริษัทสหรัฐ ขณะที่สหรัฐแลกเปลี่ยนด้วยการตัดลดภาษีให้กับสินค้าสิ่งทอ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ดอกไม้ และสินค้าอื่นๆ

โดยรายงานข่าวจากเดอะ วอลล์สตรีต เจอร์นัล ตั้งข้อสังเกตว่า ภายใต้การทำข้อตกลงเปิดเสรีทางการค้ากับสหรัฐเกือบทุกฉบับ ประเทศที่มีขนาดเล็กกว่าย่อมต้องยอมรับเงื่อนไขที่มากกว่าในเรื่องการตัดลดภาษี แต่ขณะเดียวกันประเทศเหล่านี้ก็จะมีความหวังจากการทำข้อตกลงด้วยการได้รับเงินลงทุนจากต่างชาติที่เพิ่มมากขึ้นเป็น การตอบแทน

เช่น กรณีของโคลัมเบีย ซึ่งมีมูลค่า การค้าร่วมกับสหรัฐเมื่อปี 2550 เพียง 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งนับว่าน้อยกว่า 1% ของการค้าของสหรัฐทั้งหมด และที่ผ่านมาสินค้าสหรัฐกับโคลัมเบียค้าขายกันมากที่สุด คือ สหรัฐส่งออกข้าวสาลี ข้าวโพด และสินค้าอุตสาหกรรมต่างๆ ขณะที่โคลัมเบียส่งออกสินค้าเกษตร อาทิ ผลไม้ กาแฟ รวมถึงถ่านหิน สิ่งทอ และอื่นๆ ไปยังสหรัฐ

นอกจากนี้การลงนามและผลการพิจารณาจากคองเกรสในกรณีเอฟทีเอสหรัฐ-โคลัมเบีย ยังเป็นที่สนใจของคู่เจรจาเอฟทีเอรายอื่นๆ ของสหรัฐด้วย ยิ่งในเอเชียทั้งเกาหลีใต้และญี่ปุ่นต่างติดตาม การเคลื่อนไหวของคองเกรสอย่างใกล้ชิด

เนื่องจากในกรณีเกาหลีใต้ ได้เจรจาและลงนามรับข้อตกลงเอฟทีเอเกาหลีใต้-สหรัฐเรียบร้อยแล้ว แต่ยังต้องรอการพิจารณาจากคองเกรสเพื่อให้รัฐบาลให้สัตยาบันข้อตกลงจึงจะมีผลบังคับใช้ได้ ดังนั้น ความคืบหน้าของเอฟทีเอสหรัฐ-โคลัมเบียจึงเป็นตัวบ่งชี้ถึงทิศทางของคองเกรสในกรณีเอฟทีเอเกาหลีใต้-สหรัฐด้วย

ด้านญี่ปุ่น เหตุผลของการติดตามความเคลื่อนไหวครั้งนี้ เนื่องจากญี่ปุ่นมีความหวั่นเกรงถึงการเสียเปรียบในการแข่งขันอยู่มาก หากเอฟทีเอเกาหลีใต้-สหรัฐมีผลบังคับใช้

อย่างไรก็ตามในสหรัฐเอง ข้อถกเถียงเรื่องการเปิดตลาดเสรีนั้นยังอยู่ในแคมเปญหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐและชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคเดโมแครต นับ ตั้งแต่ นายบารัก โอบามา และ นางฮิลลารี คลินตัน ประกาศจะยกเลิกข้อตกลงใน นาฟต้า หากประเทศคู่ค้าซึ่งได้แก่แคนาดาและเม็กซิโกไม่ยอมกลับมาทบทวนข้อตกลงนาฟต้า ในระหว่างที่บุคคลทั้งสองชิงเสียงสนับสนุนจากสมาชิกพรรคในการหยั่งเสียงเลือกตั้งที่รัฐไอโอวา เมื่อ ม.ค.ที่ผ่านมา

หรือในกรณี นายจอห์น แมคเคน ตัวแทนพรรครีพับลิกัน เพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 44 เสนอให้ เจรจาทำข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพยุโรป ในระหว่างการหาเสียงเมื่อเดือนที่แล้วด้วย

แมคเคนกล่าวว่า การทำข้อตกลงเปิดเสรีทางการค้าระหว่างสหรัฐและสหภาพยุโรปย่อมเป็นเรื่องดีที่น่าจะเกิดขึ้น และ น่าจะเป็นกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ทั้งนี้ปัจจุบันสหรัฐและสหภาพยุโรปต่างเก็บภาษีสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมจากสองฝ่ายที่ต่ำอยู่แล้ว และทั้งสองฝ่ายยังได้มีความประสงค์ริเริ่มขจัดกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการทำการค้าร่วมกันด้วย

อย่างไรก็ตามความพยายามจะนำพาเศรษฐกิจของประเทศเดินผ่านไปด้วยการเปิดตลาดและลดอุปสรรคทางภาษี ในขณะที่การเจรจาการค้ารอบโดฮาในองค์การการค้าโลกยังไม่มีข้อสรุปในเร็ววัน การเดินหน้าทำข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคี (เอฟทีเอ) จึงเป็นสิ่งที่อาจหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สำหรับประเทศเล็กอาจต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้อื่นเพื่อประกอบการตัดสินใจต่อไป

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ


1 ความคิดเห็น:

Anonymous

Apr 22, 2008, 10:57:00 p.m.

Hello. This post is likeable, and your blog is very interesting, congratulations :-). I will add in my blogroll =). If possible gives a last there on my blog, it is about the SBTVD, I hope you enjoy. The address is http://sbtvd.blogspot.com. A hug.