"พรรคเดโมแครต" สร้างวิกฤติการเงินในอเมริกาขึ้นอย่างไร?
วีดีโอ คลิปชุดนี้เป็นการกล่าวถึง "รากเหง้าแห่งการเกิดวิกฤติซับไพรม์จนนำไปสู่วิกฤติการเงินในสหรัฐอเมริกา" ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่อยู่ในขณะนี้ ได้อย่างครอบคลุมมากที่สุดอันหนึ่ง
ปรัชญาเศรษฐกิจที่เชื่อในตลาดเสรีของพรรครีพับลิกันไม่ได้ล้มเหลวอย่างที่บารัค โอบามา ผู้เชื่อในระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม (socialism) กล่าวหรอก แต่นโยบายที่สนับสนุนเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมแบบ Big government โดยหย่อนยานในเรื่องกฎระเบียบของภาคการเงินและการประกันภัยในอดีตต่างหากที่นำเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจในปัจจุบัน
หรือหากจะกล่าวให้แฟร์ที่สุดทั้งรีพับลิกันและเดโมแครตต้องมีส่วนรับผิดชอบในวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ แต่หากจะมาบอกว่าเป็นความผิดของพรรครีพับลิกันและรัฐบาลบุชแต่เพียงฝ่ายเดียวเป็นเรื่องที่กล่าวเท็จอย่างน่าตกใจที่สุด นี่ไม่ใช่แบบฉบับของคนที่จะมา shake up Washington ได้
ขณะที่นายบารัค โอบามา ตัวแทนจากพรรคเดโมแครตชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้กล่าวโจมตีจอห์น แมคเคนตัวแทนจากพรรครีพับลิกันในศึกชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐ 2008 อย่างเผ็ดร้อนระหว่างการหาเสียงว่า แม้แม็คเคนครั้งหนึ่งเคยประกาศจะผ่อนปรนกฎระเบียบของภาคการเงินและการประกันภัยแต่แม้แม็คเคนจะเปลี่ยนท่าทีในช่วง 11 ชั่วโมงที่ผ่านมา แต่ก็ไม่สามารถบดบังจุดยืนแท้จริงที่เขายึดติดมาตลอด 26 ปีที่ทำหน้าที่วุฒิสมาชิกได้ นอกจากนี้ โอบาม่ายังออกโฆษณาหาเสียงโดยใช้วิธีพูดกับกล้องโดยตรงแบบเดียวกับการกล่าวสุนทรพจน์ของประธานาธิบดี ย้ำว่า ประเทศกำลังต้องการการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงเพื่อแก้ไขวิกฤติครั้งนี้
แน่นอนว่าในช่วงฤดูกาลเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐนั้น "เกมการกล่าวโทษหรือ blame game" ดูเหมือนจะเป็นกลยุทธที่ง่ายที่สุดที่แต่ละฝ่ายนำออกมาใช้โดยเฉพาะจากพรรคเดโมแครตที่จ้องเก้าอี้ทำเนียบขาวตาเป็นมันในเวลานี้หลังจากที่ถูกพรรครีพับลิกันยึดเก้าอี้ในทำเนียบขาวมานานถึง 8 ปี
แต่การที่พรรคเดโมแครตและบารัค โอบามาต้องการชี้นิ้วไปที่พรรครีพับลิกันและรัฐบาลบุชว่าสมควรเป็นผู้รับผิดอย่างเดียวกับวิกฤติการเงินในตลาดหุ้นวอลสตรีทจนกระทบเมนสตรีทในครั้งนี้พร้อมยกความดีความชอบให้กับตนเองแต่เพียงฝ่ายเดียวนั้น ดูเหมือนจะเป็นการกล่าวโทษที่ง่ายเกินไป ในขณะที่พรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากในสภาคองเกรสและตัวบารัค โอบามาเองที่กล่าวโจมตีรัฐบาลบุชและพรรครีพับลิกันว่าเป็นแชมเปี้ยนในการผ่อนปรนกฎระเบียบของภาคการเงินและการประกันภัย ตัวเขาเองและพรรคเดโมแครตกลับโหวตคัดค้าน "ร่างกฎหมายที่เพิ่มกฎระเบียบแก่การเงินเพื่อเคหการที่มีอสังหาริมทรัพย์จำนองเป็นประกันอันดับสอง(The regulation of secondary mortgage market enterprises, and for other purposes - Federal Housing Enterprise Regulatory Reform Act of 2005) หรือ S.190" ที่เสนอโดย ชัค เฮเกล วุฒิสมาชิกรัฐเนบราสก้าจากพรรครีพับลิกัน และได้รับการสนับสนุนโดย จอห์น แมคเคน วุฒิสมาชิกจากรัฐเอริโซนา อลิซาเบธ โด วุฒิสมาชิกจากรัฐนอร์ธ แคโรไลนาและจอห์น ซูนูนู่ วุฒิสมาชิกจากรัฐนิวแฮมเชียร์ แต่ในที่สุดแล้วร่างกฏหมายฉบับนี้ก็ไม่ผ่านสภาคองเกรส
อีกทั้งวุฒิสมาชิกคริสโตเฟอร์ ดอดจ์ซึ่งมีตำแหน่งเป็นถึงประธาน คณะกรรมาธิการการธนาคารแห่งวุฒิสภาสหรัฐและบารัค โอบามาก็รับเงินสนับสนุนจากบริษัทแฟนนี เม(Fannie Mae)และเฟรดดี แมค(Freddie Mac) สองสถาบันการเงินเสาหลักในการแปลงสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้เป็นหลักทรัพย์ (Mortgage-Backed Securities) ซึ่งประสบกับปัญหาความเพียงพอของเงินกองทุนจนรัฐบาลสหรัฐฯเข้าไปให้ความช่วยเหลือและเป็นสาเหตุหลักต่อวิกฤติการเงินในครั้งนี้ด้วย
บารัค โอบามาและพรรคเดโมแครตไม่สามารถเดินออกจากวิกฤติการเงินที่เกิดขึ้นในครั้งได้โดยบอกว่าตนไม่มีส่วนรับผิดชอบกับวิกฤติการเงินในครั้งนี้ได้หรอก เพราะเรื่องรากเหง้าแห่งการเกิดวิกฤติซับไพรม์นี้ต้องมองย้อนไปในอดีตหลายสิบปีอย่างที่เฮนรี่ พอลสัน รัฐมนตรีคลังได้กล่าวไว้ ต้องกลับไปดูสมัยพรรคเดโมแครตภายใต้รัฐบาลจิมมี่ คาเตอร์ที่บริหารในสไตล์สังคมนิยมแบบ Big Government โน่นเลยที่ต้องการอุ้มคนจน คนที่มีรายได้น้อยให้มีบ้านเป็นของตัวเองจนนำไปสู่ การออกกฏหมายที่เรียกว่า The Community Reinvestment Act จริงๆก็เป็นไอเดียที่ดีแต่ก็ช่วยคนจนได้น้อยมาก
ทว่าเมื่อมาถึงสมัยรัฐบาลคลินตันเมื่อปี 1995 กฏหมายฉบับนี้ถูกแก้ไขอีกครั้งเพื่อปล่อยเงินกู้จำนวนมหาศาลให้กับธุรกิจขนาดเล็กและสินเชื่อบ้านให้กับผู้มีรายได้ต่ำ จนธนาคารต้องถูกบังคับให้ปล่อยเงินกู้เป็นจำนวนเงินกว่า หนึ่งแสนล้านดอลล่าร์สำหรับ "Subprime loans" จนก่อให้เกิดหลักทรัพย์ที่ค้ำประกันด้วยสินเชื่อที่อยู่อาศัยคุณภาพต่ำ(subprime mortgage securities) และ Bear Stern ก็เป็นสถาบันการเงินรายแรกที่มีความเกี่ยวข้องกับการออกสินเชื่อซับไพรม์
ในทางตรงกันข้ามรัฐบาลบุชและจอห์น แมคเคนกลับเป็นผู้ที่สนับสนุนให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฏหมาย The Community Reinvestment Act ให้มีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้นแต่เดโมแครตกลับคัดค้านโดย Representative Barney Frank (D-MA) ประธาน House Financial Services Committee กล่าวว่า
"These two entities -- Fannie Mae and Freddie Mac -- are not facing any kind of financial crisis, the more people exaggerate these problems, the more pressure there is on these companies, the less we will see in terms of affordable housing."
"สองสถาบันการเงินนี้ แฟนนี่ เมย์และเฟรดดี้ แมค ไม่มีทางเจอกับวิกฤติการเงินหรอก ยิ่งคนตื่นตูมกับปัญหาเหล่านี้มากเท่าไหร่ ยิ่งสร้างแรงกดดันให้กับสถาบันการเงินเหล่านี้มากยิ่งขึ้น เรายิ่งเห็นบ้านในโครงการเคหะแห่งชาติน้อยลง "
นี่เป็นเพียงการกล่าวโโยย่อถึงรากเหง้าแห่งการเกิดวิกฤติการเงินในอเมริกาเท่านั้น ในครั้งหน้าผู้เขียนจะขอกล่าวเพิ่มเติมโดยละเอียดถึงรากเหง้าแห่งการเกิดวิกฤติการเงินที่มาจากวิกฤตสินเชื่อที่อยู่อาศัยคุณภาพต่ำ (Sub-Prime Mortgages) ในคราวต่อไป
0 ความคิดเห็น:
Post a Comment