วันนี้อยากจะขอพูดถึงคำพูดบางส่วนของนายอานันท์ ปัณยารชุนที่หยิบยกเรื่องประชาธิปไตยในอิรัคมากล่าวโยงโจมตีความน่าเชื่อถือของอเมริกาในเรื่องประชาธิปไตยและการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยหน่อยค่ะ จริงๆแล้วอยากจะกล่าวถึงคำพูดของอดีตนายกฯที่มาจากการแต่งตั้งผู้นี้ในหลายส่วนเลยเพราะคำพูดของท่านก่อให้เกิดความสับสนในเรื่องหลักการประชาธิปไตยมากทีเดียว
การที่นายอานันท์ ปัญยารชุนกล่าวว่า
ประธานาธิบดีบุช บอกว่า อิรักเป็นประชาธิปไตย เพราะมีรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นเอง
แต่จริงๆ แล้ว ประเทศมหาอำนาจกำลังทุ่มเทให้กับประเทศต่างๆ
ที่ให้ประโยชน์กับตนเท่านั้น ตนมีความเห็นของตะวันตกมันไร้ความหมายขึ้นทุกวัน
การที่เรากังวลว่าต้องมีการเลือกตั้ง เพราะเกรงว่าจะมีการบอยคอต ผมว่าเป็นเรื่องตลก
แต่ขึ้นอยู่ที่ว่าเป็นคนของเขาหรือเปล่า จะเป็นรัฐประหาร หรือการเลือกตั้ง
ถ้าเป็นคนของเขา เขาก็จะบอกว่าเขารับได้
คำพูดนี้ของนายอานันท์นั้นถือว่าเป็นการมองการเคลื่อนไหวของสถานการณ์โลกแบบหยุดนิ่งอยู่กับที่ มองแบบมิติเดียว แต่หากท่านอานันท์มองด้วยใจที่ปราศจากอคติ หรือ มองประวัติศาสตร์การเมืองที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ตั้งแต่อดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันจะเห็นได้ชัดเจนว่า สถานการณ์โลกมันมีความเปลี่ยนแปลง มีความท้าทายใหม่ๆเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาในลักษณะที่เป็นไดนามิค จาก feudal obligation มาเป็น representative institutions หรือจาก ภัยคอมมิวนิสต์(เผด็จการ) มาเป็น ภัยจากการก่อการร้าย(ถือเป็นเผด็จการอีกรูปแบบหนึ่ง) แต่ “เสรีภาพและประชาธิปไตย” ที่เหล่าผู้เผด็จการและกลุ่มศักดินาหวาดกลัวหาใช่ของขวัญที่อเมริกายัดเยียดให้กับประชาคมโลกอย่างที่นักวิจารณ์การเมืองที่ต่อต้านสงครามอิรัคมักโจมตีอยู่เสมอว่า “รัฐบาลอเมริกันชอบยัดเยียดประชาธิปไตยให้กับประเทศอื่น” ไม่ แต่เสรีภาพและประชาธิปไตยเป็น “คุณค่าสากล” ที่มนุษย์ทุกคนพึงปรารถนา
ดังที่บุชได้เคยกล่าวไว้ว่า
Freedom is not America’s gift to the world, it is the Almighty God’s gift to
every man and woman in this world. — George W. Bush
เสรีภาพหาใช่ของขวัญที่อเมริกามอบให้กับโลกแต่
เสรีภาพคือของขวัญอันล้ำค่าที่พระผู้เป็นเจ้าประทานให้กับมนุษย์ชาย-หญิงทุกคนบนโลกนี้ต่างหากเล่า
— จอร์จ บุช
ระบอบประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่มีค่าและพึงปรารถนาสำหรับประชาชนทุกแห่งในโลก ดังประจักษ์ชัดให้เห็นชัดเจนแล้วที่ “ประเทศไทย” หลังเกิดรัฐประหาร 19 กันยา ที่อเมริกามิได้เข้ามาแทรกแซงหรือยัดเยียดความเป็นประชาธิปไตยให้แก่คนไทย แต่คนไทยส่วนใหญ่อยากเห็นการหวนคืนของระบอบประชาธิปไตยกลับคืนสู่ประเทศไทยด้วยตนเองเป็นสำคัญ และคนไทยอยากได้นายกฯที่มาจากการเลือกตั้งมากกว่าการแต่งตั้ง ตรงนี้นายอานันท์ อาจจะเข้าไม่ถึงเพราะตลอดชีวิตของนายอานันท์ไม่เคยสัมผัสหรือรับรู้ถึงการเป็นผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน นายอานันท์เลยไม่เข้าใจว่าระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยมันสร้างแรงจูงใจให้ผู้ปกครองต้องใส่ใจต่อปัญหาและสภาพความเป็นอยู่ของสาธารณชน รัฐบาลต้องรับฟังคำวิจารณ์ของฝ่ายค้าน รวมทั้งคำนึงถึงความเป็นไปได้ที่อาจพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง
ซึ่งการที่ประชาชนคนไทยมีความตื่นตัวต่อต้านเผด็จการในครั้งนี้ ก็ไม่ต่างจากภูมิภาคอื่นในโลกที่เราได้เห็นพัฒนาการทางการเมืองในตะวันออกกลาง เช่นการเดินขบวนขับไล่ผู้นำของเลบานอน การเลือกตั้งในอียิปต์ การปฎิรูประบบการเมืองในซาอุดีอาระเบีย การเดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า และการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยของชาวปากีสถานและการเลือกตั้งในอิรัคที่ผ่านมาซึ่งถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ แม้การเลือกตั้งจะไม่ได้แปลว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจะสิ้นสุดลงในชั่วพริบตาแต่มันก็เป็นสัญญาณบ่งบอกว่า กำลังมีประชาธิปไตยที่ถูกต้องตามหลักรัฐธรรมนูญในใจกลางดินแดนตะวันออกลางเกิดขึ้นและการเลือกตั้งในดินแดนเมโสโปเตเมียที่ผ่านมาหมายความว่าประชาคมโลกได้มีพันธมิตรที่เข้มแข็งในการร่วมกันต่อสู้กับการก่อการร้ายเกิดขึ้นแล้ว เพราะมีเพียงนโยบายส่งเสริมเสรีภาพและประชาธิปไตยในฐานะเมล็ดพันธุ์แห่งความหวัง( seeds of hope) ในการส่งเสริมสันติภาพโลกเท่านั้นที่เหล่าผู้เผด็จการทั้งในคราบนักบวชและในคราบเครื่องแบบเกรงกลัวและประหวั่นพรั่นพรึง
หรือหากการที่คนไทยจะมีความกังวลใจต่อการคว่ำบาตรไทยหากการเลือกตั้งไม่เกิดขึ้นตามกำหนดการก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วเพราะ โลกก้าวเข้าสู่ยุคศตวรรษที่ 21 แล้วค่ะท่านอานันท์ ยุคที่ประชาธิปไตยได้รับการยอมรับและเชิดชูว่าเป็นระบบการปกครองที่ดีที่สุดในโลก - ยุค ที่การปฏิวัติรัฐประหารถือเป็นสิ่งที่แปลกปลอมและน่ารังเกียจเดียจฉันท์ในสายตาประชาคมโลก เพราะสถานการณ์การเมืองโลกวันนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าอุดมการณ์ทางการเมืองประชาธิปไตย เป็นความหวังของมนุษย์ทุกผู้ทุกนามในการที่จะสร้างกรอบทางการเมืองที่ให้มนุษย์แก้ปัญหาด้วยเหตุผลในรัฐชาติตน การยึดอำนาจการปกครองมาจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งด้วยการใช้กำลังเข้ายึดครองจึงเท่ากับเป็นการทำลายความเชื่อที่ว่าการแก้ปัญหาทางการเมืองที่เป็นอารยะต้องดำเนินไปสันติภาพและยึดหลักในอำนาจอธิปไตยของปวงชน
เห็นอดีตนายกฯอานันท์ได้เคยพูดไว้ว่า
ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่จุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ กำลังยืนอยู่บนทางสองแพร่งทาง
คือ หนึ่งความเจริญก้าวหน้าทางประชาธิปไตย
และอีกทางหนึ่งคือความถดถอยของประชาธิปไตย
16 เดือนภายใต้สถานการณ์รัฐประหารนี่แหละคือ ความถดถอยของประชาธิปไตย ทำให้เมืองไทยสูญเสียหลายๆสิ่งไปมากมายไม่ว่าจะเป็นเรื่องพัฒนาการทางด้านการเมืองที่ถอยหลังไปอีกสิบปี ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียโอกาสในการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียทางด้านการสร้างความมีส่วนร่วมในสังคมของประชาชนและความสมานฉันท์จะไม่มีทางเกิดขึ้นหากคนในสังคมบางส่วนไม่เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นด้วยกติกาเดียวกัน แต่เหตุไฉนผู้ที่ถือตัวว่ารู้ดีในเรื่องประชาธิปไตยดีกว่าชาวบ้านธรรมดา ผู้ที่แสดงท่าทีเหนือกว่าทางจริยธรรมและรังเกียจเดีดฉันท์นักการเมืองอย่างอดีตนายกฯผู้นี้กลับเป็นกระบอกเสียงให้กับเผด็จการอย่างเต็มคราบหาได้เป็นที่พึ่งและความหวังให้กับประชาชนไม่.
แล้วท่านยังจะสอนประชาธิปไตยให้กับใครได้อีกหรือ?
0 ความคิดเห็น:
Post a Comment