24 มี.ค.51 คณาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 5 คน ออกแถลงการณ์ เรื่อง การตีความกฎหมายเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมืองและการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยระบุไม่เห็นด้วยกับการตีความรัฐธรรมนูญ มาตรา 297 เพื่อยุบพรรคการเมือง เพราะเท่ากับความผิดของบุคคลคนเดียวนำไปสู่การยุบพรรคการเมืองที่ประกอบไปด้วยสมาชิกจำนวนมากซึ่งไม่ได้ทำผิด การเอาผิดกับบุคคลซึ่งไม่ได้กระทำขัดต่อหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลอย่างร้ายแรง
นอกจากนี้ในทางปฏิบัติที่เคยเกิดขึ้นแล้ว ยังมีผลเสมือนว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้มีอำนาจยุบพรรคการเมืองนั้นเองในทางความเป็นจริง เพราะการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งก่อนประกาศผลการเลือกตั้งเป็นอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งโดยศาลฎีกาได้ตีความรับรองไว้ว่าการวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นที่สุดไม่อาจถูกตรวจสอบได้
แถลงการณ์ระบุว่า กลไกดังกล่าวแม้ว่าอาจจะเกิดจากความหวังดีของผู้ร่างรัฐธรรมนูญและผู้ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่จะขจัดการทุจริตการเลือกตั้ง แต่เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุดและรุนแรงเกินสมควรกว่าเหตุ การดำเนินการกับผู้ทุจริตการเลือกตั้งเป็นสิ่งที่จะต้องกระทำ แต่ต้องดำเนินการกับบุคคลนั้น ไม่ใช่กับพรรคการเมืองหรือบุคคลอื่นที่ไม่ได้กระทำความผิดด้วย มิพักต้องกล่าวว่าการออกแบบกลไกในลักษณะเช่นนี้เป็นการมอบอำนาจให้กับคณะกรรมการการเลือกตั้งอย่างมาก
“คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ดังมีรายนามตอนท้าย ขอเรียกร้องให้บรรดาพรรคการเมืองทุกพรรคการเมืองร่วมมือกันในอันที่จะดำเนินการแก้ไขกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการยุบพรรคการเมืองให้เป็นไปตามหลักกฎหมายที่นานาอารยะประเทศนับถือ และไม่ควรจะจำกัดการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเฉพาะประเด็นนี้เพียงประเด็นเดียว ยิ่งไปกว่านั้นขอยืนยันว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งมีความชอบธรรมในทางประชาธิปไตยที่จะดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามหลักการที่ถูกต้อง การกล่าวอ้างว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการออกเสียงประชามติ จึงไม่ควรแก้ไขหรือยังไม่ควรแก้ไขนั้น เป็นการกล่าวอ้างที่จงใจละเลยบริบทของการออกเสียงประชามติที่ประชาชนจำนวนมากถูกบีบบังคับโดยเทคนิคทางกฎหมายให้ต้องยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปก่อน เพื่อให้ประเทศพ้นจากสภาวะของรัฐบาลที่เป็นผลพวงจากการยึดอำนาจ และละเลยข้อเท็จจริงที่ว่ามีประชาชนออกเสียงไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้กว่าสิบล้านเสียง” แถลงการณ์ระบุ
ทั้งนี้ คณาจารย์ทั้ง 5 คน ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์, รองศาสตราจารย์ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช, อาจารย์ ดร.ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล, อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล, อาจารย์ธีระ สุธีวรางกูร
ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีบทบาทให้ข้อคิดเห็นด้านกฎหมายหลายเรื่อง อาทิ
อาจารย์นิติ มธ. แถลงประณามการรัฐประหารและเรียกร้องให้กลับสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด
6 คณาจารย์นิติ มธ. ออกแถลงการณ์ปฏิเสธร่างฯ 50 ด้วยเหตุ 26 ประการพร้อม 4 ข้อเสนอหากมหาชนไม่รับร่างฯ
“คำวินิจฉัยกลาง” ของ 5 อาจารย์นิติฯ มธ. ต่อ “คำวินิจฉัยกรณียุบพรรคของตุลาการรัฐธรรมนูญ”
รายละเอียดแถลงการณ์ มีดังนี้
แถลงการณ์ เรื่อง การตีความกฎหมายเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมืองและการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
ตามที่ปรากฏข้อถกเถียงเกี่ยวกับการตีความกฎหมายอยู่ในขณะนี้ว่าในกรณีที่กรรมการบริหารพรรคการเมืองกระทำความผิดตามกฎหมายเลือกตั้งและถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง การกระทำของกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นจะส่งผลให้ต้องดำเนินการยุบพรรคการเมืองดังกล่าวและต้องเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคคนอื่นที่ไม่ได้รู้เห็นเป็นใจกับการกระทำความผิดนั้นด้วยหรือไม่นั้น คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ดังมีรายนามตอนท้ายเห็นว่าโดยที่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับการตีความรัฐธรรมนูญซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และอาจก่อให้เกิดวิกฤติทางการเมืองตามมาได้ จึงเห็นสมควรที่จะได้แสดงทัศนะทางกฎหมายให้สาธารณชนได้รับทราบไว้ดังต่อไปนี้
๑. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๒๓๗ บัญญัติว่า
“ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใดกระทำการ ก่อ หรือสนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา หรือระเบียบหรือประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งมีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของบุคคลดังกล่าวตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
ถ้าการกระทำของบุคคลดังกล่าวตามวรรคหนึ่ง ปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าหัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้ใดมีส่วนรู้เห็น หรือปล่อยปละละเลย หรือทราบถึงการกระทำนั้นแล้ว มิได้ยับยั้งหรือแก้ไขเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ตามมาตรา ๖๘ และในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้น ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองดังกล่าวมีกำหนดเวลาห้าปีนับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง”
บทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นได้รับการบัญญัติซ้ำไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๑๐๓ วรรคสอง โดยมีถ้อยคำที่คล้ายคลึงกัน แต่มาตราดังกล่าวบัญญัติเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งว่า
“..ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เพื่อเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ยุบพรรคการเมืองนั้น ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้น ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นมีกำหนดห้าปีนับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง”
๒. พรรคการเมืองนับเป็นสถาบันทางการเมืองที่สำคัญที่สุดสถาบันหนึ่งในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน การรวมตัวกันจัดตั้งพรรคการเมืองเป็นเสรีภาพอันจะขาดเสียมิได้ ตามหลักกฎหมายที่ยอมรับนับถือกันทั่วไปในนานาอารยะประเทศ การยุบพรรคการเมืองจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อเหตุอันจำเป็นที่จะต้องรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยหรือเป็นกรณีที่เห็นได้ว่าพรรคการเมืองนั้นไม่ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองต่อไปแล้วเท่านั้น เพราะการยุบพรรคการเมืองนอกจากจะทำลายสถาบันทางการเมืองลงแล้วยังมีผลเป็นการทำลายเสรีภาพในการรวมตัวกันเพื่อสร้างเจตจำนงทางการเมืองของราษฎรซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอีกด้วย การตีความกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการยุบพรรคการเมืองจึงไม่สามารถทำได้โดยการอ่านกฎหมายแบบยึดติดกับถ้อยคำเท่านั้น แต่จะต้องคำนึงถึงหลักการอันเป็นรากฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยตลอดสิทธิทางการเมืองของปัจเจกบุคคลประกอบด้วยเสมอ
๓. หากพิจารณาจากถ้อยคำที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญประกอบกับความเห็นของอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญบางท่านแล้ว กรณีอาจเห็นไปได้ว่าเมื่อกรรมการบริหารพรรคการเมืองคนหนึ่งกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้งและถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งแล้ว รัฐธรรมนูญให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเท่ากับว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งต้องดำเนินการเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคการเมืองนั้น และเมื่อรัฐธรรมนูญบัญญัติว่าให้ถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศโดยวิธีการที่ไม่เป็นตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และกรณีนี้เป็นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจสั่งยกเลิกการกระทำได้ เพราะการกระทำได้เสร็จสิ้นไปแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญก็ย่อมจะต้องวินิจฉัยยุบพรรคการเมืองนั้น และต้องเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นทุกคนเป็นเวลาห้าปี มีปัญหาว่าความเข้าใจกฎหมายและการตีความกฎหมายในลักษณะเช่นนี้ซึ่งดูเหมือนจะเป็นความเข้าใจในหมู่ของบุคคลที่มีบทบาทชี้นำสังคม ทั้งที่เป็นนักวิชาการและอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือบุคคลที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการวินิจฉัยเรื่องดังกล่าวเป็นความเข้าใจที่ถูกต้องหรือไม่
๔. ในทางนิติศาสตร์ การใช้และการตีความกฎหมายไม่ได้มีความหมายเพียงแค่การอ่านถ้อยคำของกฎหมายหรือการสอบถามความเห็นของผู้ร่างกฎหมาย แล้วให้ความหมายของบทกฎหมายนั้นตามถ้อยคำหรือตามความต้องการของผู้ร่างกฎหมายเท่านั้น ถึงแม้ว่าถ้อยคำของบทกฎหมายจะเป็นปฐมบทของการตีความกฎหมายทุกครั้ง แต่การตีความกฎหมายก็ไม่ใช่การยอมตนตกเป็นทาสของถ้อยคำ ถึงแม้ว่าความเห็นของผู้ร่างกฎหมายจะเป็นสิ่งที่ต้องนำมาคำนึงประกอบในการค้นหาความหมายของบทกฎหมาย แต่ความเห็นของผู้ร่างกฎหมายก็ไม่ใช่เครื่องชี้ขาดความหมายของบทกฎหมายบทนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ผู้ร่างกฎหมายได้ร่างกฎหมายขัดแย้งกันเองในกฎหมายฉบับเดียวกัน หรือกรณีที่ผู้ร่างกฎหมายไม่ได้คาดเห็นผลร้ายของการร่างกฎหมายเช่นนั้นขณะร่างกฎหมาย ในการตีความกฎหมาย นอกจากจะต้องพิจารณาถ้อยคำ บริบททางประวัติศาสตร์ สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรมในขณะร่างกฎหมายนั้นแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันและในหลายกรณีอาจสำคัญยิ่งกว่า คือ การพิจารณาระบบกฎหมายทั้งระบบ พิจารณาหลักเกณฑ์อันเป็นเสาหลักที่ยึดโยงระบบกฎหมายนั้นไว้ ตลอดจนพิจารณาจากวัตถุประสงค์ของบทกฎหมายบทนั้น (ratio legis) หลักเกณฑ์การตีความดังกล่าวมานี้เป็นเครื่องป้องกันไม่ให้เกิดการตีความกฎหมายที่ส่งอันประหลาดและขัดกับสำนึกในเรื่องความยุติธรรม
๕. กล่าวเฉพาะการตีความกฎเกณฑ์เกี่ยวกับกับการยุบพรรคการเมืองที่กล่าวมาข้างต้น หากตีความตามถ้อยคำหรือตีความตามความประสงค์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญบางท่าน ก็เท่ากับว่าการกระทำความผิดของบุคคลเพียงคนเดียวย่อมนำไปสู่การยุบพรรคการเมืองที่ประกอบไปด้วยสมาชิกพรรคการเมืองจำนวนมากได้ ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อมีการยุบพรรคการเมืองแล้ว ก็จะต้องเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองทั้งหมด ถึงแม้บุคคลดังกล่าวจะไม่ได้มีส่วนผิดในการกระทำนั้น เท่ากับตีความกฎหมายเอาผิดบุคคลซึ่งไม่ได้กระทำความผิดซึ่งขัดต่อหลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอย่างรุนแรง การตีความกฎหมายในลักษณะเช่นนี้ย่อมฝืนต่อสามัญสำนึกของวิญญูชนทั่วไป และเท่ากับทำให้กฎเกณฑ์ทางกฎหมายในประเทศไทยย้อนยุคกลับไปเหมือนกับกฎเกณฑ์การประหารชีวิตญาติพี่น้องที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด อันเป็นการฝืนพัฒนาการทางกฎหมายของโลกและจะทำให้สถานะทางกฎหมายของประเทศตกต่ำลงในสายตาของนานาอารยะประเทศด้วย หาใช่ความน่าภูมิใจดังที่มีบางท่านกล่าวอ้างไม่
๖. ประเด็นที่ผู้สนับสนุนการตีความกฎหมายเอาผิดกับกรรมการบริหารพรรคการเมืองทุกคนและการให้ยุบพรรคการเมือง แม้กรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นเพียงคนเดียวเป็นผู้กระทำความผิดอาจหยิบยกขึ้นอ้างก็คือ รัฐธรรมนูญบัญญัติ “ให้ถือว่า” พรรคการเมืองนั้นกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ คำว่า “ให้ถือว่า” เท่ากับไม่เปิดช่องให้ผู้ใช้กฎหมายสามารถตีความกฎหมายเป็นอย่างอื่นได้ อันที่จริงแล้วการบัญญัติกฎหมายโดยใช้คำว่า “ให้ถือว่า” เท่ากับผู้ร่างกฎหมายทำตัวเป็นผู้พิพากษาเสียเองแล้ว การบัญญัติกฎหมายโดยใช้ถ้อยคำดังกล่าวจึงต้องกระทำเท่าที่จำเป็นอย่างยิ่งและต้องไม่ขัดต่อหลักเหตุผล เพราะมิฉะนั้นผู้ร่างกฎหมายก็สามารถบัญญัติกฎหมายอย่างไรก็ได้ โดยใช้คำว่า “ให้ถือว่า” เสียทั้งสิ้น บทบัญญัติที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๓๐๙ เป็นตัวอย่างของความไร้เหตุผลในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะผู้ร่างรัฐธรรมนูญบัญญัติ “ให้ถือว่า” การกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับการใดๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ทั้งๆที่ยังไม่รู้ว่าการกระทำนั้นจริงๆ แล้วชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญหรือไม่ เท่ากับบัญญัติให้การกระทำในอนาคตพ้นไปจากเสียการตรวจสอบในทางตุลาการ ซึ่งขัดกับหลักการแบ่งแยกอำนาจอย่างเห็นได้ชัด
๗. เมื่อผู้ร่างรัฐธรรมนูญบัญญัติรัฐธรรมนูญขึ้นโดยฝ่าฝืนกับหลักเหตุผลเช่นนี้ ในการตีความรัฐธรรมนูญตลอดจนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ผู้ตีความจึงต้องตีความกฎหมายไปในทางแก้ไขให้สอดรับกับหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้เพราะบทบัญญัติที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญนั้นมีทั้งบทบัญญัติที่เป็นคุณค่าพื้นฐานและบทบัญญัติที่เป็นรายละเอียด บทบัญญัติที่เป็นหลักการสำคัญที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญย่อมได้แก่ หลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและหลักราชอาณาจักรที่เป็นรัฐเดี่ยว ซึ่งรัฐธรรมนูญเองก็ได้รับรองไว้ในมาตรา ๒๙๑ ห้ามมิให้เสนอญัตติขอแก้ไขเปลี่ยนแปลง เท่ากับว่ารัฐธรรมนูญได้ยกคุณค่าของเรื่องดังกล่าวนี้ให้สูงกว่าบทบัญญัติอื่นๆ ยิ่งไปกว่านั้น ในมาตรา ๓ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ได้บัญญัติให้ การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานของรัฐต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม และบทบัญญัติในมาตรา ๒๙ ก็บัญญัติคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลไว้ การจำกัดตัดทอนสิทธิเสรีภาพของบุคคลจะต้องกระทำเท่าที่จำเป็นและจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญของสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้ ซึ่งย่อมหมายว่า การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลจะต้องกระทำตามหลักความพอสมควรแก่เหตุเท่านั้น
๘. เมื่อพิเคราะห์หลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญแล้ว ย่อมจะเห็นได้ว่าบทบัญญัติมาตรา ๒๓๗ ของรัฐธรรมนูญ หากพิจารณาแต่เฉพาะถ้อยคำย่อมขัดกับคุณค่าพื้นฐานในตัวรัฐธรรมนูญเอง ซึ่งหมายความว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญได้บัญญัติรายละเอียดเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมืองและการเพิกถอนสิทธิกรรมการบริหารพรรคการเมืองไม่ถูกต้องตามหลักการที่ตนเองได้ประกาศไว้ เพราะการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ไม่ได้รู้เห็นกับการกระทำความผิด จะถือว่าเป็นการกระทำตามหลักนิติธรรมไม่ได้ การที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ถือว่าการกระทำความผิดตามกฎหมายเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งโดยที่หัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นรู้เห็นแล้วปล่อยปละละเลยเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และจะต้องดำเนินการยุบพรรคการเมืองนั้น เป็นการบัญญัติรัฐธรรมนูญจำกัดตัดทอนสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรกว่าเหตุจึงขัดกับหลักประชาธิปไตยและหลักการประกันสิทธิและเสรีภาพของบุคคล กรณีที่บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญขัดกันเองเช่นนี้ องค์กรที่มีอำนาจตามกฎหมายย่อมจะต้องตีความบทบัญญัติที่เป็นรายละเอียดให้สอดคล้องกับบทบัญญัติที่เป็นหลักการ โดยจำกัดผลการใช้บังคับของบทบัญญัติที่เป็นรายละเอียดลง โดยอาศัยเหตุผลตามหลักวิชาที่ได้แสดงให้เห็นโดยสังเขปข้างต้น คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ดังมีรายนามตอนท้ายจึงมีความเห็นว่า ในกรณีที่กรรมการบริหารพรรคผู้หนึ่งกระทำความผิดตามกฎหมายเลือกตั้งแล้วถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง โดยที่หัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นไม่ได้มีส่วนรู้เห็นด้วย ย่อมถือไม่ได้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำของพรรคการเมืองนั้น และเมื่อถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำของพรรคการเมืองเสียแล้ว จึงไม่มีกรณีที่จะต้องวินิจฉัยว่าการกระทำนั้นเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่ไม่เป็นไปวิถีทางตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ และด้วยเหตุดังกล่าวจึงจะดำเนินการยุบพรรคการเมืองนั้นไม่ได้ การใช้และการตีความกฎหมายเช่นนี้ย่อมสอดคล้องกับหลักเหตุผลและหลักการประกันสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๒๙ กล่าวคือ คณะกรรมการการเลือกตั้งในฐานะองค์กรที่ริเริ่มกระบวนการยุบพรรคการเมืองย่อมมีดุลพินิจที่จะพิจารณาได้ว่าการกระทำของบุคคลหรือของพรรคการเมืองนั้นถึงขนาดที่สมควรจะต้องดำเนินการยุบพรรคการเมืองหรือไม่ และหากเป็นกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ใช้ดุลพินิจริเริ่มกระบวนการยุบพรรคการเมืองแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญย่อมมีดุลพินิจในการวินิจฉัยในทำนองเดียวกัน
๙. อนึ่ง นอกเหนือจากเหตุผลที่ได้กล่าวมาแล้ว หากพิจารณากรณีที่เกิดขึ้นกับพรรคการเมืองพรรคหนึ่งซึ่งกรรมการบริหารพรรคการเมืองถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งก่อนประกาศผลการเลือกตั้งโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง แล้วจะตีความกฎหมายให้ดำเนินการยุบพรรคการเมืองนั้นโดยอัตโนมัติ ผลในทางกฎหมายก็เสมือนกับว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งจะเป็นผู้มีอำนาจยุบพรรคการเมืองนั้นเองในทางความเป็นจริง เพราะการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งก่อนประกาศผลการเลือกตั้งเป็นอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งโดยศาลฎีกาได้ตีความรับรองไว้ว่าการวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นที่สุดไม่อาจถูกตรวจสอบได้ (ซึ่งมีปัญหาอย่างยิ่งในทางทฤษฎี) หากยึดติดกับถ้อยคำตามกฎหมายแล้ว เมื่อมีการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง กลไกการยุบพรรคการเมืองจะตามมาทันที และหากไม่ตีความรัฐธรรมนูญตามที่กล่าวมาแล้ว แม้แต่ศาลรัฐธรรมนูญเองก็อาจจะไม่มีดุลพินิจที่จะวินิจฉัยเป็นอย่างอื่นได้ ทั้งนี้ยังไม่ต้องพิเคราะห์ถึงข้อเท็จจริงในทางการเมืองว่าใครบ้างที่จะมาดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในระยะเวลาอันใกล้นี้และกฎเกณฑ์การสรรหาบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งดังกล่าวมีความชอบธรรมหรือไม่
๑๐. กลไกทางกฎหมายที่ได้รับการออกแบบไว้โดยผู้ร่างรัฐธรรมนูญและผู้ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้แม้ว่าอาจจะเกิดจากความหวังดีของผู้ร่างรัฐธรรมนูญและผู้ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่จะขจัดการทุจริตการเลือกตั้ง แต่เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุดและรุนแรงเกินสมควรกว่าเหตุ การดำเนินการกับผู้ทุจริตการเลือกตั้งเป็นสิ่งที่จะต้องกระทำ แต่ต้องดำเนินการกับบุคคลนั้น ไม่ใช่กับพรรคการเมืองหรือบุคคลอื่นที่ไม่ได้กระทำความผิดด้วย มิพักต้องกล่าวว่าการออกแบบกลไกในลักษณะเช่นนี้เป็นการมอบอำนาจให้กับคณะกรรมการการเลือกตั้งอย่างมาก และเมื่อการใช้อำนาจดังกล่าวส่วนหนึ่งปราศจากการตรวจสอบในทางตุลาการ เช่น การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง ผลที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ปัญหามาตรฐานของการวินิจฉัยและความเสมอภาคในการใช้กฎหมาย ตลอดจนความเป็นธรรมต่อบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการนั้น กลไกดังกล่าวนี้จะเป็นกลไกที่กระทบกับประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดิน และสร้างปัญหาทั้งทางการเมืองและกฎหมายให้กับประเทศ
๑๑. สมควรตั้งเป็นข้อสังเกตไว้ด้วยว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่มีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลจากการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ บรรดาบุคคลที่เข้าไปมีส่วนยกร่างรัฐธรรมนูญนั้นแม้บางท่านจะมีความปรารถนาดีต่อบ้านเมือง แต่จากวิกฤติการเมืองไทยตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๙ เป็นต้นมา ทำให้บุคคลเหล่านั้นกลายเป็นฝักฝ่ายทางการเมืองทั้งโดยเปิดเผยและไม่เปิดเผย ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงมีบทบัญญัติที่ไม่สอดคล้องกับหลักการที่ควรจะเป็นหลายมาตรา ดังนั้นการดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนี้ไม่ว่าจะบางส่วนหรือทั้งฉบับจึงเป็นสิ่งที่จะต้องกระทำโดยเร็ว
คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ดังมีรายนามตอนท้าย ขอเรียกร้องให้บรรดาพรรคการเมืองทุกพรรคการเมืองร่วมมือกันในอันที่จะดำเนินการแก้ไขกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการยุบพรรคการเมืองให้เป็นไปตามหลักกฎหมายที่นานาอารยะประเทศนับถือ และไม่ควรจะจำกัดการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเฉพาะประเด็นนี้เพียงประเด็นเดียว ยิ่งไปกว่านั้นขอยืนยันว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งมีความชอบธรรมในทางประชาธิปไตยที่จะดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามหลักการที่ถูกต้อง การกล่าวอ้างว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการออกเสียงประชามติ จึงไม่ควรแก้ไขหรือยังไม่ควรแก้ไขนั้น เป็นการกล่าวอ้างที่จงใจละเลยบริบทของการออกเสียงประชามติที่ประชาชนจำนวนมากถูกบีบบังคับโดยเทคนิคทางกฎหมายให้ต้องยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปก่อน เพื่อให้ประเทศพ้นจากสภาวะของรัฐบาลที่เป็นผลพวงจากการยึดอำนาจ และละเลยข้อเท็จจริงที่ว่ามีประชาชนออกเสียงไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้กว่าสิบล้านเสียง ขอเรียนด้วยว่าคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ดังมีรายนามตอนท้ายไม่ประสงค์จะเป็นฝักฝ่ายทางการเมือง แต่การออกแถลงการณ์ฉบับนี้เป็นไปเพราะต้องการให้การปกครองประเทศเป็นไปตามหลักวิชา และมุ่งหวังให้การแก้ปัญหาทางการเมืองและกฎหมายดำเนินไปอย่างสันติและถูกต้องเป็นธรรมอย่างแท้จริง
รองศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์
รองศาสตราจารย์ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช
อาจารย์ ดร.ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล
อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล
อาจารย์ธีระ สุธีวรางกูร
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
๒๔ มีนาคม ๒๕๕๑
ที่มา: ประชาไท
Moving Day
2 years ago
0 ความคิดเห็น:
Post a Comment