ประเทศไทยเมื่อ 2 ขวบปีที่แล้วก่อนที่จะเกิดรัฐประหาร มีการสร้างวาทกรรม “ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง” ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดในหมู่นักสื่อสารมวลชนที่ล้มละลายทางจรรยาบรรณ ปัญญาชนตีสองหน้า ราษฎรอาวุโส นักวิชาการที่ทอดทิ้งหลักการและนักการเมืองที่สนับสนุนการใช้มาตรา 7 เพื่อขอรัฐบาลพระราชทานและปลด พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตรนายกฯที่มาจากกประชาชนออกจากตำแหน่ง พวกเขากล่าวว่าการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 ที่ผ่านมาเป็นแค่ “กระบวนการฟอกตัว” ของ พ.ต.ท.ทักษิณเพราะ “ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง” เท่านั้น
คำกล่าวที่ว่าประชาธิปไตยไม่ได้มีแต่การเลือกตั้งเท่านั้นไม่ใช่คำกล่าวที่ผิดแต่ประการใด แต่ทว่าการอ้างความมีจริยธรรม คุณธรรมเหนือผู้อื่นมิได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็งให้เกิดขึ้นในสังคมไทยด้วยเช่นกัน เพราะประชาธิปไตยที่เป็นสากลมิได้เน้นการยึดตัวบุคคลหรือสรรหา “คนดี” มาปกครองบ้านเมืองเหมือนกับแนวคิด "ประชาธิปไตยแบบไทยๆ" ที่บอกว่าถ้าได้คนดีมาบริหารปกครองแล้ว บ้านเมืองจะดีตามไปด้วยแต่ประชาธิปไตยที่เป็นสากลนั้นมุ่งสร้างกลไกหรือระบบต่าง ๆที่เป็นกรอบหรือแนวทางให้ผู้มีอำนาจในระดับต่าง ๆ ปฏิบัติตนให้ถูกต้อง
แม้การเลือกตั้งจะมิได้มีความหมายเท่ากับประชาธิปไตยแต่การเลือกตั้งเป็นสิ่งที่มิอาจขาดเสียได้ในระบอบประชาธิปไตยเพราะการเลือกตั้งเป็นความชอบธรรมสูงสุดในการตัดสินอำนาจทางการเมืองเนื่องจากการเลือกตั้งเป็นกลไกในการเข้าสู่อำนาจที่มีความสัมพันธ์กับระบอบประชาธิปไตย
ช่วงที่มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า “รู้ทันทักษิณ” ซึ่งประกอบไปด้วย ข้าราชการศักดินา นักสื่อสารมวลชน ปัญญาชนตีสองหน้า นักวิชาการที่อิงแอบเผด็จการ และนักการเมืองที่สนับสนุนการใช้มาตรา 7 เพื่อโค่นล้ม ”ระบอบทักษิณ” ระบอบที่รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 ดูเหมือนว่าคำว่า “การเลือกตั้ง” จะเป็น "ของแสลง" สำหรับพวกเขาอยู่ไม่น้อย เพื่อหาเหตุแห่งความชอบธรรมให้กับการทำรัฐประหารพวกเขากล่าวว่า “ประชาธิปไตยมิใช่มีเพียงแค่การหย่อนบัตรแล้วก็จบเพราะประเทศที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการก็จัดให้มีการเลือกตั้งเช่นกัน”
จริงอยู่ที่ว่าแม้ในประเทศที่เป็นเผด็จการจะจัดให้มีการเลือกตั้งแต่การเลือกตั้งในระบอบเผด็จการกับการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยนั้นมีความต่างกันทั้งรูปแบบและเนื้อหา
การเลือกตั้งนั้นมีหลายแบบ ประเทศประชาธิปไตยสมัยใหม่ทุกประเทศจัดให้มีการเลือกตั้งแต่ไม่ทุกการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตย แม้กระทั่งประเทศที่เป็นเผด็จการขวาจัด(Right-wing dictatorships) ประเทศที่ใช้ระบอบการปกครองแบบสังคมนิยม(Marxist regimes)หรือประเทศที่มีพรรคการเมืองปกครองเพียงพรรคเดียว(single-party governments)ก็จัดให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นเช่นกันเพื่อให้ได้มาซึ่งความชอบด้วยกฏหมายในการปกครองประเทศ แต่การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นภายใต้ระบบแบบนี้ ผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือผู้ท้าชิง(candidate) อาจมีเพียงคนเดียวหรือมีบัญชีรายชือผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเพียงบัญชีรายชือเดียวโดยปราศจากตัวเลือกอื่นๆ การเลือกตั้งในลักษณะอย่างนี้อาจมีการเสนอชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งหลายคนเพื่อวางให้ครบในแต่ละตำแหน่ง แต่ก็ไม่พ้นการใช้วิธีการคุกคามข่มขู่ผู้สมัครรายอื่นเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งในสังกัดพรรคที่รัฐเป็นฝ่ายสนับสนุนเท่านั้นจะได้รับเลือกเข้ามา การจัดให้มีการเลือกตั้งอื่นๆอาจมีตัวเลือกให้เลือกอย่างแท้จริงแต่ก็เป็นเพียงภายในพรรคที่ครองอำนาจอยู่แล้ว นั่นคือในรัฐที่ปกครองในระบบเผด็จการหรือในระบบที่มีพรรคการเมืองพรรคเดียวแม้ว่าจะมีการเลือกตั้งแต่ผู้สมัครรับเลือกตั้งถูกกำหนดโดยพรรคการเมืองที่คุมอำนาจรัฐเท่านั้น
การเลือกตั้งที่มีลักษณะแบบนี้ไม่เรียกว่าเป็นการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยแต่เรียกว่าเป็นการเลือกตั้งภายใต้การควบคุมประชาชนเลือกตั้งเพราะรัฐบีบบังคับให้เลือกหรือเลือกตามที่รัฐชี้นำ
กลุ่มคน “รู้ทันทักษิณ” ผู้มีต้นทุนทางสังคมสูงเหล่านี้มิได้ตระหนักถึงความเป็นจริงที่ว่าการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลทักษิณนั้นประชาชนไทยสามารถที่จะลงคะแนนเสียงได้ในบรรยากาศที่
-สังคมมีอิสระเสรีภาพ
-คนไทยมีความเป็นไทมิได้ตกอยู่ภายใต้กฏอัยการศึก
-สื่อสารมวลชนมิได้ถูกครอบงำในการนำเสนอข่าว พรรคร่วมฝ่ายค้านที่ยืนอยู่ตรงข้ามกับรัฐบาลมิได้ถูกจำกัดสิทธิในการลงแข่งขันสมัครรับเลือกตั้ง(แต่พวกเขาเลือกที่จะคว่ำบาตรการเลือกตั้งเอง)
-แต่ละพรรคได้รับสิทธิและโอกาสอย่างเต็มที่ในการรณรงค์หาเสียง
-และไม่มีการส่งทหารลงไปเกาะติดพื้นที่เหมือนอย่างที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติได้กระทำอยู่สมัยยังเรืองอำนาจ
เหล่านี้เรียกว่าเป็นการเลือกตั้งภายใต้บรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตย
เพราะความเป็นประชาธิปไตยที่เข้มแข็งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการเลือกตั้งที่เป็นไปอย่างเสรีและเที่ยงธรรมภายใต้เงื่อนไขที่สังคมมีอิสระเสรีภาพที่ทุกคนในสังคมมีส่วนในอำนาจอธิปไตยเท่าๆ กันเป็นสำคัญ นั่นเพราะความเป็นรัฐเสรีประชาธิปไตยไม่ได้วัดด้วยการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียวแต่วัดได้ด้วยการที่ประชาชนในสังคมมีเสรีภาพและได้รับโอกาสในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้อย่างกว้างขวาง แสดงความคิดเห็นที่แตกต่างในที่สาธารณะได้โดยไม่ถูกจับกุม คุกคามหรือข่มขู่จากเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้ที่กุมอำนาจรัฐ
ดังอมตะพจน์ของอดีตประธานาธิบดีโธมัส เจฟเฟอร์สัน ประธานาธิบดีคนที่ 3 ของสหรัฐอเมริกาที่กล่าวไว้ว่า
"When the government fears the people, you have liberty. When the people fear the government, you have tyranny."
"เมื่อใดที่รัฐเกรงกลัวต่อประชาชน นั่นบ่งบอกว่าคนในสังคมมีเสรีภาพ แต่เมื่อใดก็ตามที่ประชาชนหวาดกลัวต่อรัฐ นั่นหมายความว่ามีทรราชย์ปกครองบ้านเมือง"
คำกล่าวที่ว่า ”ประชาธิปไตยไม่ใช่มีแต่การเลือกตั้ง” ในรอบ 24 เดือนที่ผ่านมาของขบวนการโค่นล้มทักษิณ จึงหาได้มีเป้าหมายมุ่งให้ภาคประชาชนสร้างความเข้มแข็งทางการเมืองจนเป็นส่วนหนึ่งของสังคมประชาธิปไตยที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการเลือกตั้งไม่ แต่เป็นวาทกรรมที่มุ่งชักชวนให้ประชาชนปฎิเสธการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ปฏิเสธผู้นำและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มุ่งสร้างความเกลียดชังแก่นักการเมืองโดยเฉพาะด้วยการตอกย้ำวลีเดิมๆว่านักการเมืองมีความหมายเท่ากับคอร์รัปชันเท่านั้นหรือนักการเมือง(ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน) คืออุปสรรคของการสร้างระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้ประชาชนเห็นความน่ารังเกียจของนักการเมืองอันนำไปสู่การเกิดวงจรอุบาทว์ที่ไม่สิ้นสุดนั่นคือการเข้ามาจัดการโดยคนขี้ขลาดที่มีปืน
1 ความคิดเห็น:
Mar 26, 2008, 6:59:00 a.m.
ผมไม่ชอบทักษิณ แต่ผมยอมรับผลการเลือกตั้งนะครับ แต่เรื่องคดีความที่ยังอยู่ในชั้นศาล ก็ไม่อยากให้มีการเบี่ยงเบนคดีหรือแก้กม. รธน. เอื้อประโยชน์ให้รูปคดีมันผิดไป ความผิดความถูก ประชาชนไม่ใช่ผู้ตัดสินนะครับ เป็นเรื่องของศาลและผู้พิพากษาที่จะทำไปตามพยานหลักฐานตามขั้นตอนของ กม. ไม่ใช่อ้างเสียงเลือกตั้งว่าทั้งประเทศเลือกเข้ามาแสดงว่าคนๆนี้บริสุทธิ์ หาเป็นอย่างนั้นไม่ครับ ไม่เช่นนั้นก็จะเกิด majority fraction หรือที่เรียกว่ากฏหมู่ ที่ใครถือเสียงข้างมากต้องถูกเสมอ อย่างนั้นไม่ได้นะครับ (แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า คนถือปืนถูกเสมอเช่นเดียวกัน)
Post a Comment