พรรคพลังประชาชนเป็นพรรคที่ได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนเสียงข้างมากอย่างท่วมท้นเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ที่ผ่านมาและเมื่อตอนหาเสียงก็ได้ให้สัญญากับประชาชนไว้ว่า “หากพรรคพลังประชาชนได้รับเลือกเข้ามาเป็นรัฐบาลจะทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” และนี่คือ 1 ในเหตุผลหลักทั้ง 12 ข้อที่ผู้เขียนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยคนหนึ่งตัดสินใจเลือกพรรคพลังประชาชนเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินเพราะเห็นว่าในยามที่ประเทศไทยตกอยู่ในสถานการณ์รัฐประหารก็มีเพียงพรรคพลังประชาชน(ซึ่งประกอบไปด้วย สส. และ สมาชิกพรรค ทรท. เก่าเป็นจำนวนมาก) เพียงพรรคเดียวเท่านั้นที่แสดงออกอย่างแข็งขันว่าไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารและไม่รับร่างรธน. ฉบับประสงค์ร้าย 2550
แม้ในตอนนี้ประเทศไทยจะผ่านพ้นสถานการณ์รัฐประหารและมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ “ประสงค์ร้าย” อย่างสมบูรณ์แบบเรียบร้อยแล้วก็ตาม แต่สำหรับผู้เขียนแล้วการเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นเพียงบันไดก้าวแรกที่นำประชาธิปไตยกลับคืนสู่ประเทศไทยเพื่อให้ประเทศพ้นจากสภาวะของรัฐบาลที่เป็นผลพวงจากการยึดอำนาจเท่านั้นแต่การเลือกตั้งภายใต้ รธน. ฉบับปี 2550 ยังไม่ได้เป็นเครื่องบ่งบอกว่าจะนำระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคงและงอกงามกลับคืนสู่ประเทศไทยอย่างแท้จริงเพราะการสร้างประชาธิปไตยที่เข้มแข็งด้วยรัฐธรรมนูญที่มาจากผลผลิตของการรัฐประหารย่อมไม่มีทางเกิดขึ้นได้ ดังคำกล่าวที่ว่า
“ดอกผลที่มาจากต้นไม้ที่เป็นพิษ(fruit of the poisonous
tree)ย่อมเป็นพิษเสมอฉันใดก็ฉันนั้น”
ดังนั้นผู้เขียนจึงเห็นด้วยอย่างยิ่งกับข้อเรียกร้องที่แนบท้ายถ้อยแถลงการณ์ของอาจารย์นิติ มธ. ทั้ง 5 ท่านที่กล่าวว่า
“ขอเรียกร้องให้บรรดาพรรคการเมืองทุกพรรคการเมืองร่วมมือกันในอันที่จะดำเนินการแก้ไขกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการยุบพรรคการเมืองให้เป็นไปตามหลักกฎหมายที่นานาอารยะประเทศนับถือ
และไม่ควรจะจำกัดการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเฉพาะประเด็นนี้เพียงประเด็นเดียว
ยิ่งไปกว่านั้นขอยืนยันว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งมีความชอบธรรมในทางประชาธิปไตยที่จะดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามหลักการที่ถูกต้อง”
หากต้องการจะแก้ รธน. ทั้งทีก็ไม่ควรจำกัดกรอบการแก้ไขเฉพาะมาตรา237 ซึ่งเป็นกฏหมายเอาผิดแบบเหมาเข่งที่วางอยู่บนสมมติฐาน “เชื่อได้ว่า” เพียงมาตราเดียวแต่ควรจะครอบคลุมไปถึงการแก้ไขทั้งหมดพร้อมกันไปเลยโดยเฉพาะมาตราที่มีเนื้อหาไม่เป็นประชาธิปไตยด้วย เป็นต้นว่า
-ในส่วนที่ 2 สภาผู้แทนราษฎร มาตรา 93 ที่ลดจำนวน สส. จาก 500 คน เหลือ 480 คนที่บัญญัติไว้ว่าสภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 480 คน โดยเป็นสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 400 คนและสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วนจำนวน 80 คน
ในส่วนของ ส.ส.ระบบแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่กำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิเลือกผู้สมัครได้ตามจำนวนส.ส.ที่พึงมีในเขตเลือกตั้งนั้น ตรงนี้สร้างความไม่เท่าเทียมกันในการลงคะแนนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในแต่ละเขตเพราะผู้มีสิทธิแต่ละคนมีสิทธิเลือกผู้สมัครได้ในจำนวนที่ไม่เท่ากัน บางเขตเลือกตั้งอาจเลือกได้ 1 คนหรือ 2 คนหรือ 3 คนแล้วแต่กรณี
ส่วนส.ส.ระบบสัดส่วนจำนวน 80 คนซึ่งมาจากการเลือกบัญชีรายชื่อโดยแบ่งเป็น 8 กลุ่มจังหวัด กลุ่มละ 10 คนนั้นก็แปลความหมายเป็นอื่นไปไม่ได้นอกเสียจากต้องการไม่ให้พรรคหนึ่งพรรคใดยึดครองที่นั่งของ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อได้เป็นจำนวนมากเป็นการแก้กติกาให้พรรคการเมืองอ่อนแอลงเพื่อกำจัดพรรคการเมืองอย่างพรรคไทยรักไทยในอดีตหรือพรรคพลังประชาชนในปัจจุบันไม่ให้ได้ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อมากจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้สำเร็จนั่นเอง
-ในส่วนที่ 3 วุฒิสภา มาตรา 111 ที่ระบุว่าวุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวนรวม 150 คนซึ่งมาจากการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด จังหวัดละ 1 คนรวมเป็น 76 คน และมาจากการสรรหาจากภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคเอกชน 74 คน
การลดจำนวน สว. จาก 200 คน เหลือ 150 คน เท่ากับเป็นการตัดสิทธิประชาชนชาวไทยในการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกโดยแท้ เพราะวุฒิสมาชิกส่วนหนึ่งจะมาจากการแต่งตั้งโดยกลุ่มบุคคลที่มิได้เป็นผู้แทนของประชาชน พูดกันตรงๆก็คือเป็น สว.ที่มาจากการ “ลากตั้ง” นั่นเอง
และยังมีการเพิ่มบทบาทที่ขัดกับหลักการในระบอบประชาธิปไตยให้แก่วุฒิสมาชิกและสถาบันตุลาการในการคัดเลือกองค์กรอิสระ และให้สิทธิในการถอดถอนนายกรัฐมนตรีผู้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนอีกด้วย
เห็นได้ชัดว่าเนื้อหาในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ลดจำนวน สส. ลงจากเดิม 500 เหลือ 480 และให้ สว. อีก 74 คนมาจากการลากตั้ง คือความต้องการลดบทบาททางการเมืองของประชาชนและผู้แทนราษฎรในการตัดสินใจเรื่องที่มีความสำคัญระดับประเทศ
-บทเฉพาะกาล มาตรา 309 ที่ “นิรโทษกรรม” ให้กับการกระทำทุกอย่างที่เกิดขึ้นจากรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 แม้การกระทำเหล่านั้นจะขัดกับหลักนิติรัฐและขัดต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย มาตรา 309 นี่เองที่ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับ2550 ไร้ซึ่งความเป็นประชาธิปไตยเพราะมีบทบัญญัติที่รับรองให้การล้มล้างระบอบประชาธิปไตยโดยการใช้กำลังเป็นสิ่งที่ถูกต้องและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 2550 ทุกประการ บทบัญญัติว่าด้วยการนิรโทษกรรมมาตรา 309 นี้ได้ทำลายหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญลงอย่างสิ้นเชิง กลายเป็นกฎหมาย "เกือบสูงสุด" ของประเทศไปโดยปริยาย
และอีกหลายมาตราในหมวดแรกๆของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ควรแก้ไขและผู้เขียนเห็นว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งยวดกว่ามาตราทีมีเนื้อหาไม่เป็นประชาธิปไตยที่กล่าวมาข้างต้นเสียอีกหากต้องการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของไทยให้เข้มแข็งต่อไป แต่ด้วยการที่กฏหมายไทยและลักษณะของคนในสังคมไทยยังไม่เปิดกว้างพอต่อการวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ บางมาตราจึงยังถูกทหารใช้เป็นเงื่อนไขในการทำรัฐประหารต่อไป
ที่อ้างกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการออกเสียงประชามติได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเสียงข้างมากจึงยังไม่ควรแก้ไขนั้น เป็นการกล่าวอ้างที่จงใจลืมข้อเท็จจริงไปว่า กระบวนการออกเสียงประชามติรับ-ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาเป็นกระบวนการที่ถูกจัดทำขึ้นภายใต้บรรยากาศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและกระทำการโดยใช้กฏที่ถูกร่างขึ้นมาโดยกลุ่มคนเพียงกลุ่มเดียว กลุ่มคนที่ได้อำนาจมาอย่างมิชอบ
ในเมื่อนักรัฐประหารและพวกอำมาตย์อ้างว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้รับความเห็นชอบจากประชาชนจึงไม่ควรแก้ไข มาในวันนี้ประเทศไทยมี สส. และ สว.บางส่วนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งจึงยิ่งมีความชอบธรรมสูงสุดในทางประชาธิปไตยที่จะดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามหลักการที่ถูกต้อง มากกว่าบุคคลหรือองค์กรใดที่ถูกแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารเสียด้วยซ้ำ
จริงๆแล้วตั้งแต่พรรคพลังประชาชนได้รับการเลือกตั้งเข้ามาในสภามากถึง 232 ที่นั่งทั้งที่ถูกจับใส่กุญแจมือควรให้ความสำคัญกับการแก้กฏหมายรัฐธรรมนูญฉบับประสงค์ร้ายก่อนเป็นลำดับแรกเลย มันมีความสำคัญยิ่งกว่าการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ที่ท่านนายกฯสมัครแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเสียอีก หากตัวท่านนายกฯสมัครเองยังรู้สึกว่าปัญหาการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศ การแก้ไขรธน. ยิ่งต้องถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนให้กลับคืนมาโดยเร็ว
แม้ตอนนี้ประเทศไทยจะมีประชาธิปไตยเรียบร้อยแล้วแต่หากการเมืองยังไม่มีเสถียรภาพ การยุบพรรคการเมืองเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดายภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันทั้งที่ในประเทศที่มีประชาธิปไตยอย่างเข้มแข็งพรรคการเมืองถือว่าเป็นสมบัติของประชาชน จะทำให้การดำเนินนโยบายต่างๆ ทำได้ยากมากขึ้น กลายเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจทั้งในและต่างประเทศในที่สุด
ในวันนี้นักการเมืองอย่างพวกท่านได้รับความยินยอมจากประชาชนให้เข้ามาทำงานการเมืองดังที่สัญญาไว้กับประชาชนเรียบร้อยแล้ว พวกท่านควรใช้โอกาสนี้แสดงให้ประชาชนเห็นว่าพวกท่านเป็นตัวแทนของประชาชนจริงๆ ที่พร้อมปกป้องสิทธิทางการเมืองและเสรีภาพในการรวมตัวกันเพื่อสร้างเจตจำนงทางการเมืองของประชาชนด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประสงค์ร้ายที่มุ่งลดอำนาจประชาชนหยิบยื่นอำนาจให้กับกลุ่มอภิชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน อย่างมิชักช้า
อย่ารีรออยู่เลยค่ะ อำนาจอธิปไตยที่ประชาชนมอบให้อยู่ในมือพวกท่านแล้ว
0 ความคิดเห็น:
Post a Comment