Spiga

เมื่อ CL กลายเป็นเครื่องมือใช้ต่อรองราคายา

หลังจากที่คนไทยส่วนใหญ่ได้อ่านบทความหรือข่าวที่มีแนวความคิดสนับสนุนการประกาศบังคับใช้ซีแอลของ นพ. มงคล ณ สงขลา ตามหน้าหนังสือพิมพ์มามากแล้ว วันนี้เราลองมาอ่านมุมมองของนายธีระ ฉกาจนโรดม นายกสมาคมผู้วิจัย และผลิตเภสัชภัณฑ์แห่งประเทศไทย หรือ PReMA ที่กล่าวถึงในเรื่องนี้บ้างซึ่งผู้เขียนคิดว่าเป็นมุมมองที่อยู่ในโลกของความเป็นจริงและสมเหตุสมผลเป็นอย่างยิ่ง

ก็ไม่แปลกค่ะที่กลุ่ม NGO ในสหรัฐ และ ฝรั่งเศส จะออกมาเต้นในเรื่องนี้เมื่อมีข่าวว่ารัฐบาลไทยกำลังทบทวนการประกาศบังคับใช้สิทธิโดยรัฐในยามะเร็งหลายตัวที่ประกาศโดยรัฐบาลก่อนหน้า แต่ยังไม่มีผลในเชิงปฏิบัติ เพราะกลุ่ม NGO ในสหรัฐ และ ฝรั่งเศสเหล่านี้มีแนวทางการเมืองแบบ Left wing ideology ที่เป็นปรปักษ์ต่อรัฐบาลบุชซึ่งเป็นฝ่ายขวาอยู่แล้ว ย่อมต้องสนับสนุนกิจกรรมใดๆก็ตามที่สอดคล้องกับอุดมการณ์ของพวกเขา การประกาศบังคับใช้สิทธิโดยรัฐของกระทรวงสาธารณสุขโดยหมอมงคลจึงถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมืองในเวทีโลกของกลุ่ม Left wing นั่นเอง

สัมภาษณ์ ธีระ ฉกาจนโรดม

การบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (compulsory license หรือ CL) ยารักษาโรคมะเร็ง 3 รายการ ก่อนที่ น.พ.มงคล ณ สงขลา จะหมดวาระการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเพียงไม่กี่วัน ได้ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ผู้เกี่ยวข้องไปทั่ว ไม่ว่าจะเป็นคำสรรเสริญ จากกลุ่มเครือข่ายผู้ป่วย/NGO, ความวิตกกังวลของกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะผู้ดูแลด้านการส่งออกสินค้าไปยังตลาดหลักอย่างสหรัฐ และการกล่าวโทษของบริษัทยาเจ้าของสิทธิบัตร ผู้เสียผลประโยชน์

ในอีกมุมหนึ่ง "ประชาชาติธุรกิจ" สัมภาษณ์ นายธีระ ฉกาจนโรดม นายกสมาคมผู้วิจัย และผลิตเภสัชภัณฑ์แห่งประเทศไทย หรือ PReMA จะมีทางออกในเรื่องของการบังคับใช้สิทธิ CL นำเข้ายาที่มีสิทธิบัตรได้หรือไม่ ภายใต้โจทย์ ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยารักษาโรคได้ในราคาถูก ขณะที่อีกด้านหนึ่ง บริษัทยาเจ้าของสิทธิบัตรเองก็อยู่ได้ด้วย

- ภาพรวมของการผลิตยาในไทยปัจจุบัน

สมาคม PReMA มีสมาชิกประมาณ 40 บริษัท เราเปิดดำเนินการมาแล้วกว่า 30 ปี สมาชิกเป็นบริษัทยาต่างประเทศ รวมทั้ง โรงงานที่รับผลิตยาที่มีสิทธิบัตรเพื่อจำหน่ายในประเทศไทยด้วย สำหรับภาพรวมตลาดยาในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็น ยาที่ไม่ติดสิทธิบัตร แต่มียาที่ติดสิทธิบัตรอยู่ประมาณ 100 กว่ารายการเท่านั้น และใน 100 กว่ารายการนี้ความจริงผู้ถือสิทธิบัตรจะได้รับการคุ้มครองไม่กี่ปี

เนื่องจากกระบวนการขึ้นทะเบียนยาใหม่ใช้เวลานาน หลังได้รับอนุญาตให้วางจำหน่ายในท้องตลาดเพียง 8-10 ปี ยาตัวนั้นก็หมดความนิยมลงแล้ว

ที่ผ่านมา บริษัทยากับผู้ซื้อสามารถอยู่ร่วมกันได้ มีการเจรจาซื้อขายยาโดยไม่ต้องใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (compulsory license หรือ CL) เหมือนกับที่รัฐบาลชุดที่ผ่านมาใช้อยู่

- การใช้ CL กับระบบสาธารณสุข

ผมว่า CL ควรเป็นวิธีสุดท้ายที่จะนำมาใช้ เพราะ CL ไม่ใช่เครื่องมือที่จะทำให้คนไทยซื้อยาราคาถูกลง การซื้อยาความจริงแล้วเป็นเรื่อง ของรัฐบาลในฐานะผู้จัดหายาให้กับประชาชน มากกว่า เพราะระบบสาธารณสุขของไทยประชาชน ได้รับการคุ้มครองด้านสุขภาพ แบ่งเป็น 3 ระบบ

1)ระบบข้าราชการและครอบครัว รัฐบาลเป็นคนจัดหายาให้ มีประมาณ 5-7 ล้านคน 2)ลูกจ้างที่ได้รับความคุ้มครองจากระบบประกันสังคม เรียกเก็บ 1 ใน 3 จากผู้ได้รับการคุ้มครองและจากธุรกิจอีก 2 ใน 3 ในส่วนนี้มีจำนวนคนที่ได้รับการคุ้มครอง 9 ล้านคน นอกจากต้องการอะไร ที่เกินกว่าสิทธิจึงต้องจ่ายเอง

และ 3)ประชาชนที่เหลืออีก 47-48 ล้านคนที่รัฐบาลได้จัดหาให้ใช้ระบบประกันสุขภาพเดิม 30 บาทรักษาทุกโรค แต่ปัจจุบันไม่ต้องเสียแล้ว

เท่ากับว่า ประชาชนไทยไม่ต้องควักเงินซื้อยาเอง ทั้งยาที่มีสิทธิบัตรและไม่มีสิทธิบัตร แต่การที่รัฐบาลประกาศบังคับใช้ CL ก็เพื่อที่รัฐบาลจะได้ไปซื้อยาที่ราคาถูกมาแทนยาที่เป็นนวัตกรรมภายใต้สิทธิบัตรของเจ้าของยานั้น ที่ผ่านมา น.พ.มงคล (น.พ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข) ไม่เคยชี้แจงกับประชาชนอย่างชัดเจน ข่าวที่ออกมาคือ CL ทำให้ประชาชนได้ใช้ยาถูก แต่คุณภาพไม่เหมือนกัน

ทุกวันนี้ข้าราชการไปรักษาในโรงพยาบาล หรือลูกจ้าง หรือประกัน สปสช. ไปรักษาลิ่มเลือด ก็ได้ ยาพลาวิกซ์ ราคายามันอาจจะสูง แต่เป็น ยาจริง แต่เมื่อรัฐบาลจัดสรรเงินไม่เพียงพอต่อการซื้อยาจริงจึงต้องประกาศ CL เพื่อจะได้ไปซื้อยาเลียนแบบ ที่ราคาถูกกว่า ดังนั้น CL จึงเกิดประโยชน์กับคนที่ทำหน้าที่ซื้อยาให้ประชาชนเท่านั้น

อย่างการประกาศ CL ที่ผ่านมา มีขั้นตอนรัดกุมขนาดไหน ต้องไม่ลืมว่า การประกาศ CL เป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ เพราะกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ดูแลเรื่องสิทธิบัตร ฉะนั้นจึงต้องมีการหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์-กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงสาธารณสุข ทั้ง 3 กระทรวง มีมติร่วมกันเสียก่อน จึงจะดำเนินการได้

โดยเฉพาะ CL ครั้งหลังสุด (ยามะเร็ง 3 รายการที่ประกาศและกำหนดให้มีการนำเข้า) บริษัทเจ้าของสิทธิบัตร 3 บริษัท คือ ซาโนฟี- โรซ และโนวาตีส เพิ่งได้รับประกาศการบังคับใช้ CL ยามะเร็งของบริษัทตัวเองในวันที่ 31 มกราคม 2551 ทางอีเมล์ แต่หัวหนังสือที่ออกจากกระทรวงสาธารณสุขลงวันที่ 4 มกราคม 2551 หมายความว่า หนังสือแจ้งมันเดินทางช้าไปเกือบเดือน หรือลงวันที่ย้อนหลังกันแน่

ความจริงผมไม่ได้เห็นหนังสือหรือประกาศ CL ยามะเร็ง แต่บริษัทสมาชิกของเราแจ้งให้ทราบว่า ได้รับการแจ้งจากกระทรวงให้ไปเปิดประมูลยา (เทนเดอร์) ซึ่งเป็นยาที่จัดซื้อภายใต้ CL การทำอย่างนี้ทำให้เกิดคำถามถึงความถูกต้อง เพราะ การประกาศ CL ยา 3 รายการแรกเป็นยาเอดส์ 2 ตัว ให้อธิบดีกรมควบคุมโรคประกาศ แต่ยาที่ไม่ใช่โรคติดต่อให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขประกาศ แต่ยามะเร็ง 3 รายการครั้งหลังสุด เราไม่เห็นว่าเป็นการประกาศ CL โดยใคร หมอมงคลใช่หรือไม่

- กระทรวงสาธารณสุข ออก CL อย่างคลุมเครือ

เราต้องการให้ทบทวนก่อนว่า วิธีการอย่างนี้ถูกต้องหรือไม่ ผมว่ามันผิดปกติ รวบรัด เกินไป แรกๆ ผมคิดว่าจะไปขอพบ รมว.สาธารณสุขคนใหม่ (นายไชยา สะสมทรัพย์) แต่พอมีข่าวล็อบบี้ ผมก็ไม่อยากให้มันออกไปอย่างนี้ เราอยากให้เป็นไปตามกระบวนการของประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม PReMA ยังพยายามทำงานร่วมกับรัฐบาล มีคณะกรรมการทำงานร่วมกัน ยินดีช่วยเหลือในการเข้าถึงยาเพื่อแก้ไขปัญหาการเข้าถึงยาของผู้ป่วย แต่เราต้องคำนึงว่า การดำเนินการทุกอย่างมีข้อดีและข้อเสีย ต้องคำนึงถึงผลกระทบทางลบ โดยเฉพาะภาพลักษณ์ของประเทศ เราไม่ใช่ประเทศปิด ต้องคำนึงถึงกติกาสากลด้วย

- CL กับยารักษาโรคมะเร็ง

จริงอยู่ที่โรคมะเร็งร้ายแรง แต่อาจจะไม่จำเป็นต้องใช้ CL ก็ได้ รัฐบาลต้องดูว่า การจัดสรรยาให้ผู้ป่วยนั้น ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยคนนั้นใช้ระบบประกันสุขภาพอะไร ใช้กองทุนอะไรรักษา ใครเป็นคนจัดหา และมีงบประมาณเท่าไร เผมชื่อว่า กระทรวงขาดข้อมูลตัวนี้ เราเห็นว่าที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขใช้ปัจจัยราคายาเป็นตัวตั้งแล้วประกาศ CL ตูมออกมา เป็นการใช้วิธีเฉพาะหน้าแก้ปัญหาระยะยาว ผมเข้าใจว่า ถ้ามีการเจรจากันบริษัทยายินดีที่จะลดราคายา และบางบริษัทก็มีโครงการให้ยาฟรีสำหรับผู้ป่วยอยู่แล้ว

- กระบวนการเจรจาต่อรองราคายาที่ผ่านมา

ปกติกระบวนการเจรจาต่อรองราคายามีอยู่แล้วโดยผู้ซื้อกับผู้ขาย แต่กระบวนการต่อรองราคายาระดับประเทศระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข และ อุตสาหกรรมยา ผู้ป่วยกับโรงพยาบาลไม่ได้ต่อรองเพราะแพทย์เป็นคนตัดสินเองว่า คนไข้ต้องการยาระดับไหน ซึ่งแต่ละตัวรักษาโรคในกลุ่มเดียวกัน แต่ผลมันต่างกันเท่านั้นเอง

- มองว่า CL เป็นเครื่องมือในการต่อรองราคายา

จะมองอย่างนั้นก็ได้ แต่ระบบที่ใช้มันไม่เป็นสากล การบังคับใช้ CL ต้องเกิดเหตุการณ์ที่เฉียบพลันจริงๆ หากไม่ใช้ CL แล้วจะมียาไม่เพียงพอกับผู้ป่วย นี่เป็นเหตุผลสากลที่อนุญาตให้ใช้ CL ไม่ใช่เพื่อการต่อรองราคาอย่างที่กระทรวงสาธารณสุขใช้อยู่ในปัจจุบัน เพราะการแก้ไขปัญหาระบบสุขภาพต้องดำเนินการในระยะยาว โดยเฉพาะการจัดสรรงบประมาณด้านสุขภาพคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ต่อสัดส่วนอัตราการขยายตัวของ GDP ของไทยอยู่แค่ 3.3% เท่านั้นเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เราจึงต้องพัฒนาจุดนี้ เราต้องลงทุน เป็นประการแรก

ประการที่สอง ต้องพัฒนาจำนวนแพทย์ให้เพียงพอ โดยเฉพาะในชนบท และ สาม เมื่อมีโครงการของ สปสช.แล้ว ผู้ป่วยก็ทะลักเข้ามารักษาจำนวนมาก จนแพทย์ไม่มีเวลาค้นคว้า พัฒนาขีดความสามารถ ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องแก้ไข

- มองอย่างไรที่ไทยใช้ CL ถี่มากใน 1 ปี

การบังคับใช้ CL ถือเป็นการล่วงละเมิดสิทธิบัตรของเจ้าของเขาอยู่แล้ว ทำเหมือนกับไทยไม่เคารพทรัพย์สินของประเทศอื่น แม้ว่าจะไม่มีการนำเข้าจริง แต่เมื่อประกาศ CL ออกไปแล้วก็ถือว่าละเมิดสิทธิไปแล้ว บริษัทยาเจ้าของสิทธิบัตรย่อมได้รับความเสียหายเพราะการวิจัย ยาแต่ละรายการต้องใช้งบประมาณจำนวนมากถึง 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อหนึ่งตัวยา ซึ่งประเด็นนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ยาราคาสูงโดยเฉพาะยาในกลุ่มมะเร็ง-เอดส์-หัวใจ มีการวิจัยอยู่ในงบประมาณ 800-1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ประกอบกับคนป่วยน้อยหารเฉลี่ยราคายาต่อหัวก็สูง

ส่วนการจะไปจำกัดการนำเข้ายาสามัญจากอินเดียทำไม่ได้ เพราะอินเดียมีกฎหมายสิทธิบัตรปี 2005 ฉะนั้น ยาที่เกิดก่อนปีนี้จึงเป็นยาสามัญ เมื่อประเทศเขาไม่มีกฎหมายก็บังคับไม่ได้ แต่เมื่อมีกฎหมายแล้วใช้ได้ แต่กฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง แต่ยาที่จดสิทธิบัตรหลัง 2005 ไม่สามารถผลิตเป็นยาสามัญได้

แต่ถ้าเราประกาศ CL ไปเรื่อยๆ ผมเชื่อว่าบริษัทยาจะไม่นำยาเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เหมือนอย่างกรณีของบริษัทแอบบอต เพราะถึงอย่างไรเมื่อประกาศ CL ไปแล้วก็เหมือนกับคุณเข้าบ้านเขาแล้ว ถึงจะบอกว่าไม่เอาของเขาออกมาก็ไม่ใช่ไม่เสียหาย แต่หากจะไม่นำเข้าเพราะบริษัทยายอมลดราคาลงไปแล้วก็ยกเลิก CL ไปเลย ต่างประเทศจะสรรเสริญคุณ ถึงเวลาจำเป็นฉุกเฉินจริงค่อยประกาศบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (CL) ใหม่ก็ได้

- เห็นมีข่าวเรื่องล็อบบี้ออกมา

ไม่ได้ล็อบบี้ แต่อย่างไรก็ตาม สมาคม PReMA มีความยินดีที่นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุขคนใหม่ มีนโยบายที่จะทบทวนการประกาศใช้ CL ยามะเร็ง 3 รายการ โคซีแท็กเซล-เออร์โลทินิบ และเล็ทโทรโซล ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมประกวดราคานำเข้าอยู่ในขณะนี้ เรายังไม่ออกแถลงการณ์ฉบับที่สอง จนกว่าจะได้รับทราบความชัดเจนจาก รมว.สาธารณสุขก่อน

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ


บทความที่เกี่ยวข้อง


0 ความคิดเห็น: